กรมการขนส่งทางบก ระบุผลการดำเนินการจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะเดือนสิงหาคม 2559 ในเขตกรุงเทพมหานคร พบรถแท็กซี่กระทำความผิดสูงสุด 880 ราย รองลงมารถตู้โดยสาร 298 และรถจักรยานยนต์สาธารณะ 148 ราย เปรียบเทียบปรับสูงสุดทุกราย ย้ำรถโดยสารสาธารณะต้องให้บริการที่ดี มีความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในการใช้บริการ
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยถึงผลการจัดระเบียบรถแท็กซี่ รถตู้โดยสารสาธารณะ และรถจักรยานยนต์สาธารณะภายในเขตกรุงเทพมหานคร ด้วยการตรวจสอบการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยตามนโยบายของรัฐบาล เฉพาะเดือนสิงหาคม 2559 ดำเนินการตรวจสอบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะทั้ง 3 ประเภท รวมทั้งสิ้น 16,798 ราย พบการกระทำความผิดรวม 1,326 ราย ประกอบด้วย เป็นการตรวจสอบรถแท็กซี่ จำนวน 9,910 ราย โดยพบการกระทำความผิด 880 ราย ความผิดส่วนใหญ่ได้แก่ ใช้รถไม่ตรวจรอบมิเตอร์ตามที่กำหนด จำนวน 282 ราย ใช้รถไม่จดทะเบียนหรือไม่ชำระภาษี จำนวน 205 ราย นำรถแท็กซี่หมดอายุมาใช้ จำนวน 96 ราย ขับรถไม่แสดงใบอนุญาตหรือสำเนาคู่มือรถ จำนวน 76 ราย และปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร จำนวน 69 ราย เป็นต้น
สำหรับการตรวจสอบการให้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะจำนวน 5,949 ราย พบการกระทำความผิด จำนวน 298 ราย ความผิดส่วนใหญ่ ได้แก่ ใช้ความเร็วเกิดอัตราที่กฎหมายกำหนด จำนวน 100 ราย นำรถออกนอกเส้นทางโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 51 ราย ไม่นำรถเข้าตรวจสภาพตามระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 31 ราย อุปกรณ์ส่วนควบของตัวรถไม่มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ถูกต้อง จำนวน 25 ราย แก้ไขดัดแปลงเพิ่มจำนวนที่นั่ง จำนวน 7 ราย เป็นต้น ในส่วนของการตรวจสอบการให้บริการรถจักรยานยนต์สาธารณะ จำนวน 939 ราย พบการกระทำความผิด จำนวน 148 ราย ยังคงพบการฝ่าฝืนนำรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการ จำนวน 112 ราย ไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง จำนวน 31 ราย ไม่แสดงใบอนุญาตขับรถจำนวน 3 ราย และใช้รถไม่จดทะเบียนหรือไม่ชำระภาษี จำนวน 2 ราย
อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการเปรียบเทียบปรับตามข้อหาความผิดทุกราย พร้อมบันทึกประวัติการกระทำผิดไว้ที่ศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ และผู้กระทำความผิดทุกคนต้องเข้ารับการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการที่ดี ปรับปรุงพฤติกรรมการให้บริการให้มีคุณภาพ และป้องกันการกระทำความซ้ำซาก โดยกรมการขนส่งทางบกมีมาตรการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถสาธารณะ สำหรับผู้กระทำความผิดที่ไม่มีการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ โดยเฉพาะความผิดซ้ำซากในข้อหาความผิดเดิม เพื่อคัดกรองผู้ขับรถที่ไม่มีคุณภาพ ออกจากระบบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะของประเทศ
สำหรับกรณีแท็กซี่สิ้นอายุการใช้งานได้ดำเนินการยึดแผ่นป้ายทะเบียนไว้เพื่อป้องกันการนำรถให้บริการประชาชน ซึ่งการฝ่าฝืนใช้รถแท็กซี่สิ้นอายุการใช้งานส่วนใหญ่จะพบให้บริการอยู่ในพื้นที่รอบนอกกรุงเทพมหานคร เช่น มีนบุรี นนทบุรี จึงขอให้ประชาชนที่จะใช้บริการตรวจสอบเบื้องต้นด้วยการสังเกตสภาพรถที่อาจเก่าหรือทรุดโทรมผิดปกติ ไม่มีป้ายวงกลมแสดงการต่อทะเบียน เนื่องจากการใช้บริการรถที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรถแท็กซี่สิ้นอายุ รถแท็กซี่ป้ายดำ รถจักรยานยนต์ป้ายดำ ผู้โดยสารจะไม่ได้รับความคุ้มครองและยากต่อการติดตามตัวในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือการให้บริการไม่พึงประสงค์ โดยสามารถแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน โทร.1584 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวเด่น