ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กองทุนความร่วมมือนิวตันทุ่มกว่า 60ลบ. ส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัยดาราศาสตร์


 


กองทุนความร่วมมือนิวตันระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย 'เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม' ทุ่มงบกว่า 1.3 ล้านปอนด์ หรือ 60 ล้านบาท ส่งเสริมความร่วมมือด้านวิจัยดาราศาสตร์ ตั้งเป้าหมายเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างนักวิจัยสหราชอาณาจักรและไทยอย่างน้อย 4 โครงการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดาราศาสตร์ทั้งซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ รวมถึงการจัดการข้อมูลทางดาราศาสตร์

กองทุนความร่วมมือนิวตันระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ Science and Technology Facilities Council (STFC) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 12-14 กันยายน 2559 ณ โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ กรุงเทพฯ  เพื่อร่วมกำหนดขอบเขตการดำเนินการวิจัยดาราศาสตร์ร่วมกัน ในหัวข้อ Capacity Building in Software and Hardware Infrastructures and Data Handling through Astronomy ภายในงานได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่าง Science and Technology Facilities Council (STFC) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้รับเกียรติจาก Ms. Margaret Tongue อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน
 
 
การประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นักวิจัยดาราศาสตร์จาก สหราชอาณาจักรจำนวน 14 คน และจากประเทศไทย จำนวน 18 คน มุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัยดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักรและไทย รวมถึงความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของสหราชอาณาจักรและของไทยในด้าน Capacity Building in Software and Hardware Infrastructures and Data Handling through Astronomy และการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาระบบ STEM ในโรงเรียนของไทย   
 
Ms. Margaret Tongue อัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ คาดว่าจะมีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย ดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ การฝึกอบรม โครงการแลกเปลี่ยน ที่จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาเอก นักวิจัยระดับต้น นักเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ วิศวกร และบุคลากรระดับเทคนิค เพื่อเพิ่มศักยภาพบุคลากร รวมถึงต่อยอดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ ของประเทศต่อไป”
 

รองศาสตราจารย์บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า “การลงนามความร่วมมือในบันทึกความเข้าใจระหว่าง สดร. และ STFC ในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญที่ไม่เคยมีมาก่อน เป็นการเริ่มต้นการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งสอง เพื่อขยายขอบเขตความร่วมมือโดยอาศัยศักยภาพแต่ละด้านที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ ภายใต้กรอบความร่วมมือกับกองทุนนิวตันดังกล่าว สดร. และ STFC จะร่วมกันผนึกกำลังสร้างสรรค์โครงการวิจัยที่น่าสนใจในสาขาต่างๆ ไม่เพียงแต่ด้านดาราศาสตร์เท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงด้านอุตสาหกรรม นำนวัตกรรม และเทคโนโลยีมาปรับใช้ เพื่อให้เกิดความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในทั้งสองประเทศต่อไป 
การสนับสนุนโครงการวิจัยด้านดาราศาสตร์ของกองทุนความร่วมมือนิวตัน ภายใต้กรอบวงเงินประมาณ 60 ล้านบาท ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการพัฒนาวงการดาราศาสตร์ไทย ที่กองทุนความร่วมมือนิวตันเห็นว่าดาราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าและล้ำสมัยในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สามารถนำมาประยุกต์เป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ดาราศาสตร์ยังเป็นศาสตร์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ให้หันมาสนใจการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เพิ่มขึ้น สามารถสร้างสรรค์บุคลากรที่มีทักษะทางด้านนี้เพิ่มขึ้น จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและการเติบโตของระบบเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป”
 

ศาสตราจารย์ Grahame Blair ผู้อำนวยการสำนักงานกำกับดูแลยุทธศาสตร์และแผนงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี the Science and Technology Facilities Council (STFC) กล่าวว่า“สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำทางด้านวิจัยดาราศาสตร์ของโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้การสนับสนุนของ STFC ส่งผลให้สหราชอาณาจักรมีบทบาทสำคัญในความก้าวหน้าของการศึกษาด้านจักรวาล (Cosmos) 

ความร่วมมือด้านดาราศาสตร์กับประเทศไทยในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่แสดงถึง ความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรที่ต้องการทำงานร่วมกับนานาประเทศ เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีด้านวิจัยดาราศาสตร์ พร้อมกันนี้ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักวิจัยด้านดาราศาสตร์ของสหราชอาณาจักรและนักวิจัยด้านดาราศาสตร์ของนานาประเทศ เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อทุก ๆ ฝ่าย”


กองทุนความร่วมมือนิวตัน
 
ในปี 2557 สหราชอาณาจักรได้ประกาศจัดตั้งกองทุนความร่วมมือนิวตัน เพื่อการวิจัยและนวัตกรรมในกลุ่มประเทศอำนาจใหม่ 

“กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม” ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2558 เมื่อครั้งที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์ กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยได้รับการจัดสรรเงินทุนจากกองทุนความร่วมมือนิวตัน เป็นจำนวนเงิน 10 ล้านปอนด์ หรือ 450 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยแบ่งการสนับสนุนเป็นปีละ 2 ล้านปอนด์ นับจากเดือนเมษายน 2557 ฝ่ายไทยก็จะดำเนินการสนับสนุนเงินทุนจำนวนดังกล่าวเช่นกัน ผ่านรูปแบบความร่วมมือระดับหน่วยงานทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชน กิจกรรมภายใต้การสนับสนุนของกองทุนความร่วมมือนิวตัน จะมุ่งเน้นใน 3 ส่วน ได้แก่
1) บุคลากร – การสร้างเสริมศักยภาพ การแลกเปลี่ยนบุคลากรและความร่วมมือ
2) โครงการ – ความร่วมมือด้านงานวิจัย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คืองานประชุมสัมมนาทางวิชาการในครั้งนี้
3) การนำนวัตกรรมมาปรับใช้ – การนำงานวิจัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อประเทศในวงกว้าง

ปัจจุบัน มีโครงการความร่วมมือภายใต้การสนับสนุนของ “กองทุนความร่วมมือนิวตัน ระหว่างสหราชอาณาจักรและประเทศไทย เพื่อการวิจัยและนวัตกรรม” ทั้งสิ้น 12 โครงการ ผ่านการสนับสนุนด้านงบประมาณ 17 หน่วยงาน ประกอบด้วย หน่วยงานของสหราชอาณาจักร 9 หน่วยงาน และหน่วยงานของไทยอีก 8 หน่วยงาน โครงการความร่วมมือดังกล่าว ประกอบด้วยโครงการวิจัยขนาดใหญ่ด้านต่างๆ อาทิ ด้านสาธารณสุข เกษตรกรรม พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มากกว่า 20 โครงการ อีกทั้งยังสนับสนุนนักวิจัยในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สังคมศาสตร์เป็นจำนวนมากกว่า 1,050 คน

เกี่ยวกับงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนความร่วมมือนิวตัน
-การเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์ทั้ง software และ hardware รวมถึงการจัดการข้อมูลทางดาราศาสตร์-
 
กองทุนความร่วมมือนิวตันให้ความสำคัญกับด้านดาราศาสตร์ เพราะดาราศาสตร์เป็นศาสตร์ที่มีความก้าวหน้าและล้ำสมัยในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ดาราศาสตร์ยังเป็นศาสตร์ที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ให้
หันมาสนใจการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เพิ่มขึ้น สร้างสรรค์บุคลากรที่มีทักษะทางด้านนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและการเติบโตของระบบเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงต่อไป

The Science and Technology Facilities Council (STFC) ดำเนินงานเพื่อผลักดันให้สหราชอาณาจักรยังคงเป็นแนวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติและรับมือกับความท้าทายสำคัญของมวลมนุษยชาติ ได้แก่ ความต้องการพลังงานในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความมั่นคงของโลก STFC มีผู้เชี่ยวชาญที่สามารถถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในด้าน material science, space and ground-based astronomy technologies, laser science, microelectronics, wafer scale manufacturing, particle and nuclear physics, alternative energy production, radio communications และ radar ให้กับสถาบันการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมที่สนใจ

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) และ STFC จะร่วมกันพัฒนากิจกรรมความร่วมมือทางดาราศาสตร์ ภายใต้กรอบกองทุนความร่วมมือนิวตัน ทั้งนี้ในเบื้องต้นโครงการที่ STFC และ สดร. สนใจจะร่วมกันพัฒนา มี 4 สาขา ได้แก่
1) Mechatronics/ Telescope Control : การพัฒนาเทคนิคและระบบควบคุมกล้องโทรทรรศน์
2) Very Long Baseline Interferometry (VLBI) Engineering, Technology and Research การวิจัยและเทคโนโลยีดาราศาสตร์วิทยุ
3) Data Handling การจัดการข้อมูลดาราศาสตร์
4) Outreach to Support STEM Education programme in school (cross cutting with other groups) การสนับสนุนระบบสะเต็มศึกษา

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้เร่งพัฒนาศักยภาพกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านดาราศาสตร์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในส่วนของกล้องโทรทรรศน์ควบคุมอัตโนมัติระยะไกล และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุระยะไกลของประเทศ เทคโนโลยีเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาศักยภาพ และทักษะด้านการควบคุมกล้องโทรทรรศน์สมัยใหม่ที่ต้องอาศัยความแม่นยำสูง  ซึงการพัฒนาทักษะกำลังคน และเทคโนโลยีดังกล่าวยังจะสามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย อาทิ ระบบควบคุมของรถยนต์ และเครื่องจักรที่ต้องการความแม่นยำสูงอีกด้วย

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ก.ย. 2559 เวลา : 15:20:28

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:38 pm