พาณิชย์เผยแผนพัฒนา SMEs ธุรกิจรูปแบบใหม่ และธุรกิจ Startup สู่การเป็น Smart Enterpriseหวังให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยยุค 4.0
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญแก่ธุรกิจ SMEs ธุรกิจรูปแบบใหม่ และธุรกิจ Startup กระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อมุ่งสู่การเป็น Smart Enterprise โดยการสร้าง New Business Model ที่มีนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยี โดยจะนำร่องใน 2 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจแฟรนไชส์ และธุรกิจบนพื้นฐานนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value base enterprise) รวมทั้งสร้างระบบนิเวศน์ทางการค้า (Trade Ecosystem) เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของ Startup อาทิ การออกกฎหมายฉบับใหม่ที่ให้บุคคลคนเดียวสามารถจดทะเบียนนิติบุคคลได้ ทั้งนี้ การพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ Startup จะเป็นการทำงานร่วมกันของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเพิ่มประสิทธิภาพ
สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ นั้น กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะปรับแนวทางใหม่ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์เป็นรายสาขา อาทิ ธุรกิจอาหาร ธุรกิจเครื่องดื่ม เพื่อสร้าง Business Format มีการบริหารจัดการที่เต็มรูปแบบ และเตรียมความพร้อมที่จะขายรูปแบบธุรกิจมากกว่าการขายเฉพาะสินค้า ก่อนขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยจะเป็นการทำงานเชื่อมโยงระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งจะเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการโดยนำเทคโนโลยีของธุรกิจ Startup ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการเงิน บัญชี โลจิสติกส์ สินค้าคงคลัง และการตลาดมาใช้เป็นเครื่องมือให้ธุรกิจแฟรนไชส์
ในส่วนของธุรกิจบนพื้นฐานนวัตกรรมและการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value base enterprise) มุ่งเน้นการสร้าง Global Brand โดยแบ่งแนวทางการพัฒนาออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 การขยายตลาดและใช้ตลาดเป็นตัวนำ (Demand-Driven & Market Expansion) โดย จะเน้นการสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) และปรับวิธีคิดของผู้ประกอบการ (Entrepreneur Mindset) มุ่งเน้นการใช้ตลาดเป็นตัวนำ (Demand driven) และเสริมทักษะการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value creation) ของสินค้า/บริการ
ระดับที่ 2 แนวคิดการออกแบบและกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ (Branding Strategy & Design Thinking) โดยการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ (New business model) และการดำเนินธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร (Food & Agriculture) สุขภาพและความงาม (Health & Wellness ธุรกิจบริการ (Hospitality & Service) และ สินค้าไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Product) โดยนำแนวคิดการออกแบบในกระบวนการธุรกิจ เพื่อสร้างความแตกต่าง
ระดับที่ 3 การพัฒนาสินค้าเฉพาะกลุ่มและแบรนด์ที่เป็นฮีโร่ (Customization & Thai Brand Heroes) โดยการเสริมความเข้มแข็งสู่ตลาดต่างประเทศเป้าหมาย โดยมีการ Customize สินค้า/บริการให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคและความต้องการของแต่ละตลาด พร้อมทั้งสร้าง Thai Brand Heroes
ระดับที่ 4 การสร้างที่ยืนในตลาดโลกและการสร้างแบรนด์ร่วมกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงในเวทีโลก(Global Presence & Co-Brand with Champions) โดยจะสนับสนุนการแสวงหาพันธมิตรในต่างประเทศให้แก่ผู้ประกอบการ อาทิ การสร้างแบรนด์ผ่านสื่อชั้นนำ ดีไซเนอร์ที่มีชื่อเสียง และแบรนด์ชั้นนำ เน้นการต่อยอดให้เกิดการสร้างแบรนด์ร่วมกัน (Co-Branding) และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มผู้ประกอบการและ Startup
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเป็น Platform กลางในการนำธุรกิจ Startup ที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการ การขนส่ง การตลาด มาให้ผู้ประกอบการ SMEs ใช้เป็นเครื่องมือในการยกระดับและพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพระดับสากล
ในเร็วๆ นี้ กระทรวงพาณิชย์จะจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ บนพื้นฐานนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานและเจรจาธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการนวัตกรรม และกลุ่ม Startup ในงาน Thailand Innovation and Design Expo 2015 หรือ 'T.I.D.E. 2016' ระหว่างวันที่ 15 – 18 กันยายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และ งานแสดงสินค้าของขวัญและงานแสดงสินค้าของใช้ในบ้าน ครั้งที่ 42 หรือ งาน BIG+BIH Oct 2016 ณ ศูนย์แสดงสินค้าไบเทค บางนา
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่า แนวทางการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจรูปแบบใหม่ จะเสริมสร้างผู้ประกอบการไทยให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ การสร้าง แบรนด์ การปรับการตลาดรูปแบบใหม่ และการพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมทั้งสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเข็มแข็งและก้าวสู่ตลาดโลกต่อไปได้อย่างมั่นคงในอนาคต
ข่าวเด่น