นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า หลังจากยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ระยะ 20 ปี ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วนั้น สนค.เตรียมหารือร่วมกับหน่วยงานภายในกระทรวงพาณิชย์และที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพาณิชย์จังหวัด เพื่อระดมความคิด และร่วมขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันตามยุทธศาสตร์ฯ อีกทั้งจะจัดเตรียมแผนงานเพื่อเสนอของบประมาณปี 2561 ต่อไป
ยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ระยะ 20 ปี (ปี 2559-2579) ตั้งเป้าว่าไทยจะก้าวเป็นผู้นำการค้าของโลก หรืออย่างต่ำต้องเป็นที่ 1 ในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตรเชิงนวัตกรรมที่ตั้งเป้าเป็นที่ 1 ของโลก แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (ปี2559-2564) ปฏิรูปการค้า เน้นปรับกฎหมาย วางระบบการค้า, ระยะที่ 2 (ปี 2565-2569) เป็นห่วงโซ่สำคัญของโลก เน้นพัฒนาผู้ประกอบการให้เป็นผู้นำตลาดภูมิภาค, ระยะที่ 3( ปี 2570-2574 )เป็นห่วงโซ่สำคัญของโลก เน้นยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ค้าสำคัญในตลาดโลก และระยะที่ 4( ปี 2575-2579) ก้าวเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดโลก เน้นสร้างศักยภาพของประเทศให้ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเป็นผู้ค้าหลักของโลก
ทั้งนี้ แผนเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 18 เดือน ใน 4 ยุทธศาสตร์ ส่วนใหญ่เป็นแผนงานเดิมที่เริ่มทำมาแล้วก่อนหน้านี้ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการแบบครบวงจร จะจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรม เพื่อช่วยผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าเกษตรหลักเป็นสินค้านวัตกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น , เร่งรัดแก้ไขปัญหาคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่ค้างอยู่ (Backlog) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้านวัตกรรมให้ผู้ประกอบการ เร่งรัดแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ไทยพ้นจากบัญชีที่ต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ภายในปี 2560 และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและผลักดันการพัฒนาการค้าบริการ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการพัฒนาระบบการค้าให้มีประสิทธิภาพ จะเน้นปฏิรูประบบการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรโดยใช้การตลาดนำการผลิต เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล มันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหาปริมาณส่วนเกินหรือคุณภาพ ไม่ตรงตามความต้องการ เพราะหากสามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้แล้ว ก็จะช่วยผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น และเกษตรกรได้รับประโยชน์ในที่สุด การบังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ การผลักดันอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการค้า เช่น การพัฒนาระบบการจดทะเบียนธุรกิจ การสร้างตลาดชุมชน เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ เสริมสร้างบทบาทผู้บริโภค เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะอนาคตกระทรวงพาณิชย์จะต้องลดบทบาทการควบคุมราคาสินค้า และปล่อยลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกตลาด หรือหากควบคุมจะดำเนินการให้น้อยที่สุด ซึ่งบทบาทของกระทรวงพาณิชย์จะเปลี่ยนเป็นการอำนวยความสะดวกและต้องสร้างระบบผู้ประกอบการที่ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา และยุทธศาสตร์ที่ 4 บูรณาการกับระบบการค้าโลก งานเร่งด่วน คือ กระชับความร่วมมือกับกลุ่ม CLMVT เพื่อลดอุปสรรคการค้าการลงทุน สร้างภาพลักษณ์สินค้า ธุรกิจบริการของไทยให้เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ผลักดันการส่งออกด้วยการตลาดนำการผลิต สร้างความเข้าใจ และใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ การเข้าร่วมประชุมเจรจาเพื่อขยายตลาด เป็นต้น
ข่าวเด่น