ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 6/2559 เมื่อวันที่ 14 ก.ย.59 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 14 กันยายน 2559คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและ ยังเผชิญกับความไม่แน่นอนทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงครึ่งหลังของปี และภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวได้สูงกว่าที่คาดจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี ส่วนหนึ่งจากปัจจัยชั่วคราวและมาตรการกระตุ้นของภาครัฐ ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภาครัฐยังคง เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำและยังกระจุกตัว อยู่เฉพาะในบางภาคธุรกิจ การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการส่งออกสินค้าหดตัวตามเศรษฐกิจเอเชียที่ชะลอลงและปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย รวมทั้งคุณภาพของสินเชื่อในบางภาคธุรกิจด้อยลง ในระยะข้างหน้า คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว แต่ต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางและพัฒนาการทางการเมืองในต่างประเทศ
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนสิงหาคมปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวในระดับต่ำตามอุปสงค์ที่ยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปีนี้ตามที่คาดไว้เดิม
ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลาย โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรยังอยู่ในระดับต่ำอย่างไรก็ดี ในบางช่วงเวลาที่ผ่านมา ค่าเงินบาทโน้มแข็งขึ้นบ้างเมื่อเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งสำคัญ ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่ายังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงิน รวมทั้งพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) จากการที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน
คณะกรรมการฯ เห็นว่าการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ยังมีความสำคัญ เพราะในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังจะต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และความไม่แน่นอนของทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักที่จะส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมากขึ้น
ในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อเนื่อง และพร้อมที่จะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพการเงินของประเทศ
ข่าวเด่น