ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
รมว.แรงงานเสนอ 3 กลยุทธ์ ยุติแรงงานบังคับ/แรงงานเด็กเวทีเอเชียแปซิฟิก


 


นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงานในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมายให้ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวปราศรัยในนามรัฐบาลไทยต่อที่ประชุมระดับ  อนุภูมิภาคว่าด้วยการบรรลุเป้าประสงค์ที่ 8.7 เรื่อง การยุติแรงงานบังคับ การใช้ทาสในยุคสมัยใหม่ การค้ามนุษย์ และแรงงานเด็ก ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ซึ่งมีผู้แทนกว่า 10 ประเทศ รวมทั้ง เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยเข้าร่วม จัดโดย สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ
 
โดยกล่าวต่อที่ประชุมโดยสรุปว่า “เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นความท้าทายที่จะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จในปี ค.ศ. 2030 และ ที่ผ่านมาพบว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เราก้าวต่อไปข้างหน้า ดังนั้นต้องร่วมกันทุกฝ่ายรวมทั้งหุ้นส่วนทางสังคมอื่นๆ ด้วย เพื่อที่จะทำให้โลกใบนี้ปราศจากแรงงานบังคับ การใช้ทาส การค้ามนุษย์ และแรงงานเด็ก รวมทั้งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยเฉพาะ เด็ก.. เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่ามากที่สุด พวกเขาคืออนาคต เป็นความหวังที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ การดำรงอยู่ของการใช้แรงงานเด็ก เป็นการกีดกันไม่ให้ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและการพัฒนา ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่แท้จริง ต่อการบรรลุประสงค์ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีความก้าวหน้าอย่างมากและมีผลสัมฤทธิ์ ในการแก้ไขปัญหาการนี้”

นายธีรพล กล่าวต่อไปว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว โดยประเทศไทยได้ประกาศให้เป็น “วาระแห่งชาติ” พร้อมได้นำเสนอ 3 กลยุทธ์ ต่อที่ประชุม ซึ่งประเทศไทย ได้ใช้ในการดำเนินงาน และที่สำคัญคือมีความเหมาะสมที่จะสามารถประยุกต์ใช้ในภูมิภาคนี้ได้ประกอบด้วย กลยุทธ์แรก คือ มาตรการรายกลุ่ม (sector by sector) เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของทรัพยากร ดังนั้น ต้องเริ่มต้นจากภาคส่วนที่มีการกระจุกตัวของปัญหามากที่สุด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ
 
กลยุทธ์ที่สอง คือ หุ้นส่วนและการรับผิดชอบร่วมกัน (partnership and shared responsibility) โดย ภาคีหุ้นส่วนต้องมีการแบ่งปันและใช้ประโยชน์ร่วมกันขององค์ความรู้ ข้อมูล และทรัพยากร ซึ่งประเทศไทยและประเทศในกลุ่ม CLMV ได้มีข้อตกลงที่รับผิดชอบร่วมกันในการขจัดการโยกย้ายถิ่นฐานในรูปแบบที่ไม่ปกติ (irregular migration) ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ และแรงงานเด็ก
 
กลยุทธ์ที่สาม คือ การส่งเสริมมาตรฐาน (standard promotion) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืน โดยจะต้องมีมาตรฐานที่ทุกคนสามารถยึดถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน และประเทศไทยได้มีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้มาตรฐานแรงงานไทยและแนวทางการปฏิบัติที่ดีด้านแรงงานภายในสถานประกอบกิจการที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลตามกรอบขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ พร้อมกันนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวขอบคุณสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ฯ และได้เชิญชวนให้ทุกฝ่ายและภาคีสมาชิกทุกประเทศ ร่วมมือกันทำงานอย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องโดยใกล้ชิด เพื่อให้ภูมิภาคนี้ ปราศจากการกระทำที่เลวร้าย และเป็นภูมิภาคที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 14 ก.ย. 2559 เวลา : 14:51:15

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:46 am