สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการจัดงานของดีจากชายแดนใต้ ครั้งที่ 9 ชู ยอดจำหน่ายสินค้าภายในงาน 9 วัน กว่า 8.6 ล้านบาท หรือเฉลี่ยวันละ 9.5 แสนบาท โดยสินค้าที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด คือ ผลไม้ โดยเฉพาะ ทุเรียน และลองกอง
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการจัดงานของดีจากชายแดน ครั้งที่ 9 ระหว่างวันที่ 3 – 11 กันยายน 2559 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จัดขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาด้านเศรษฐกิจในครัวเรือนและชุมชนของผู้ได้รับผลกระทบได้มีช่องทางในการนำสินค้าหรือผลผลิตที่ผลิตได้ในพื้นที่ออกมาจำหน่าย สร้างรายได้ให้แก่ครัวเรือนและชุมชน รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนในส่วนกลางได้มีโอกาสเรียนรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และสินค้าดีผลิตภัณฑ์เด่นจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา โดยในปีนี้ จัดขึ้น ณ กรมชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
สำหรับผลการประเมินผลการจัดงาน สศก. พบว่า ภาพรวมมีผู้เข้าชมงานตลอดระยะเวลาการจัดงาน 9 วัน ประมาณ 28,000 ราย เฉลี่ยวันละ 3,100 ราย หมุนเวียนเข้าชมงานตลอดทั้งวันตั้งแต่เวลา 9.00 น. ก่อนเวลาเปิดงาน ที่กำหนดไว้ 10.00 น. ไปจนถึงถึง 20.00 น. โดยช่วงเวลาที่มีผู้เข้าชมงานมากที่สุดคือ 11.00 – 13.00 น. และ 16.00 – 18.00 น. และตลอดวันในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
การจำหน่ายสินค้าภายในงาน มีร้านจำหน่ายสินค้าจาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 80 ร้าน ซึ่งมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้ารวมตลอดการจัดงาน ประมาณ 8.6 ล้านบาท เฉลี่ยวันละกว่า 956,000 บาท โดยสินค้าที่มียอดจำหน่ายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1) ผลไม้ (ทุเรียน ลองกอง) 2) ข้าวมันไก่เบตง และ3) เครื่องประดับมุก (สร้อย แหวน) และผ้าบาติก
ด้านนางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า ในส่วนของเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่มาออกร้านส่วนใหญ่ ร้อยละ 97 เห็นว่าการจัดงานดังกล่าว ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยผู้เข้าชมงาน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 73 พึงพอใจต่อสินค้าที่นำมาจำหน่ายในระดับมาก
ส่วนผู้เข้าชมงาน นอกจากจะให้ความสนใจนิทรรศการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นิทรรศการผักและผลไม้ท้องถิ่น และจุดสำหรับถ่ายภาพเอกลักษณ์ 4 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ยังให้ความสนใจในการสาธิตและฝึกอาชีพ โดยตั้งใจจะนำความรู้ไปฝึกทำเพื่อบริโภค เช่น การทำกล้วยหินกรอบแก้ว การทำกุ้งหวาน ชาชัก และการทำผ้าบาติก ตลอดจนให้ความสนใจการแสดงศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ในช่วงเย็น ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้มาเที่ยวชมงานในระดับมาก เช่น รำมโนราห์ ระบำบาติก ระบำดีดกุ้ง และตานีบุหงารำไป เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าชมงานและผู้ออกร้านจำหน่ายสินค้าเห็นว่าสถานที่การจัดงานควรมีการระบายอากาศที่ดีกว่านี้หรือจัดงานในโดมติดเครื่องปรับอากาศ เพื่อจะได้เดินเลือกซื้อสินค้าได้นานๆ รวมทั้งควรมีห้องน้ำให้เพียงพอ ซึ่งร้อยละ 88 จะกลับมาเที่ยวชมงานอีกครั้งในปีต่อไป
ข่าวเด่น