ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยพัฒนาห้องแล็ปตรวจผัก-ผลไม้เพื่อการส่งออก


 


กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาห้องปฏิบัติการพิษวิทยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้สามารถตรวจสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้ไม่น้อยกว่า 500 ชนิด เตรียมพร้อมให้บริการตรวจผักผลไม้ เพื่อการส่งออก หวังเป็นศูนย์กลางการตรวจสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในภูมิภาคอาเซียน

ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งมีการเพาะปลูกพืชอาหารหลายประเภท  ทั้งเพื่อบริโภคในประเทศและส่งออก  ดังนั้นคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตทางการเกษตรจึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศและสุขภาพของผู้บริโภคในวงกว้าง ปัจจุบันการผลิตพืชอาหารหลายชนิดกำลังประสบปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษอันเกิดจากการตกค้างของสารเคมีที่ใช้ทางการเกษตร เนื่องจากเกษตรกรนิยมปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการผลิตเชิงการค้าในปริมาณมากจึงต้องมีการดูแลอย่างเข้มข้น ดังนั้น การลดความเสี่ยงจากความเสียหายของผลผลิตจึงจำเป็นต้องพึ่งพาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง ส่งผลให้ผัก ผลไม้ และสมุนไพรที่ประเทศไทยส่งออกไปจำหน่ายในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ยังคงตรวจพบสารเคมีตกค้างในกลุ่มสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชอยู่เป็นจำนวนมาก มีผลทำให้สินค้าไทยต้องชะลอการส่งออก ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท
 

ปัญหาหนึ่งที่พบคือ วิธีการตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า  ซึ่งมีมากกว่า 500 ชนิดสารเคมี  จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาห้องปฏิบัติการของไทยให้สามารถตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชให้ได้อย่างน้อย 500 ชนิด สำหรับตรวจผัก ผลไม้ และสมุนไพร ตามมาตรฐานสากล อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขต้องการให้คนไทยรับประทานผักผลไม้ให้พอเพียงเพื่อสุขภาพ การพัฒนาให้ประเทศไทยสามารถตรวจยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ได้ตามมาตรฐานโลก จะทำให้คนไทยค่อยๆไว้วางใจบริโภคผักและผลไม้ซึ่งดีต่อสุขภาพ เพิ่มมากขึ้นด้วย
 

นายแพทย์อภิชัย  มงคล  อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวว่า  กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการพิษวิทยาให้สามารถตรวจวิเคราะห์สารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชได้ไม่น้อยกว่า 500 ชนิด ใน 10 กลุ่ม คือ Organochlorine, Organophosphate, Carbamate, Pyrethroid, Pyrazole, Neonicotinoid, Thiocarbamate, Nitrophenol derivative, Triazine derivative, Phenoxyacetic acid derivative ตามข้อกำหนดอ้างอิงของ European Commission DG-SANCO no. SANCO/12571/2013 จากเดิมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจได้ประมาณ 200 ชนิด ใน 4 กลุ่มของสารเคมี ได้แก่ กลุ่ม Organochlorine, Organophosphate, Carbamate, Pyrethroid ทั้งนี้ห้องปฏิบัติการพิษวิทยา จะตรวจผักผลไม้เพื่อรองรับการส่งออก รวมถึงผักผลไม้ที่จำหน่ายในประเทศ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่สามารถตรวจได้ตามที่อียูกำหนด ซึ่งเราหวังเป็นศูนย์กลางการตรวจหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชในภูมิภาคอาเซียน

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  กล่าวต่ออีกว่า  ระยะเวลาการตรวจผักผลไม้ 1 ชนิด จะใช้เวลาตรวจไม่เกิน 5 วันทำการ ในขณะนี้ผู้ประกอบการต้องส่งไปตรวจที่ประเทศสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และอังกฤษ ค่าตรวจชนิดละประมาณ 100,000 บาท ในระยะแรกนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการสำรวจเฝ้าระวัง เตือน และให้บริการพัฒนาผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ในระยะต่อไปอีกประมาณ 9 เดือนข้างหน้าจะเปิดให้บริการตรวจรับรองอย่างเป็นทางการแก่ผู้ส่งออกและผู้ประกอบการในประเทศที่ต้องการใบรับรองตามมาตรฐานอียู หรือมาตรฐานของคู่ค้า ซึ่งจากการนำร่องตรวจเฝ้าระวังผักผลไม้ที่จำหน่ายในประเทศ โดยสุ่มเก็บผักทั้งหมด 10 ตัวอย่าง จากห้างสรรพสินค้าและตลาดค้าปลีกทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ผลการตรวจพบว่า 8 ตัวอย่างตรวจพบสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืช และมี 2 ตัวอย่างที่ตรวจไม่พบสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเลย ซึ่งเป็นผักปลอดสารพิษที่เก็บตัวอย่างมาจากห้างเซ็นทรัล 2 แห่ง
 

“สำหรับอันตรายของสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชนั้น เมื่อสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชเข้าสู่ร่างกาย จะส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกาย อาการเป็นพิษมากหรือน้อยและรวดเร็วเพียงใดขึ้นอยู่กับชนิดของสารเคมี เวลาที่สัมผัส ปริมาณหรือความเป็นพิษของสารเคมีนั้นว่ารุนแรงมากน้อยเพียงใด การแสดงอาการจากการได้รับสารพิษมีอยู่ 2 แบบคือ 1.พิษเฉียบพลัน เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษของสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชทันทีทันใดเช่น ปวดศีรษะ มึนงงคลื่นไส้อาเจียน เจ็บหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อเหงื่อออกมาก ท้องร่วง เป็นตะคริว หายใจติดขัด มองเห็นไม่ชัดเจน หรือตาย 2. พิษเรื้อรัง เกิดขึ้นเมื่อได้รับพิษของสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแล้วแสดงผลช้า ใช้เวลานาน อาการอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีภายหลังจากการได้รับสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชจึงจะแสดงออกมาให้เห็น เช่น การเป็นหมัน การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ การเป็นอัมพฤต/อัมพาตและมะเร็ง” นายแพทย์อภิชัย  กล่าวทิ้งท้าย


 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.ย. 2559 เวลา : 10:04:54

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:30 am