กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือประชาชนร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคชิคุนกุนยา ชี้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ หากเจ้าของบ้านปล่อยปละละเลยให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านของตนต้องทำลายหรือแก้ไข หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามพ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535
วันนี้ (15 กันยายน 2559) ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ว่า กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มแข็ง โดยพบผู้ป่วยในบางอำเภอในบางจังหวัด สามารถควบคุมโรคได้จนแนวโน้มสถานการณ์คงที่ ปัจจัยความสำเร็จในการควบคุมโรคเกิดจากความร่วมมือของประชาชน องค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานในพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนอย่างได้ตื่นตระหนก ช่วยกันเก็บกวาดบ้านเรือนให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เนื่องจากยุงที่ทำให้เกิดโรคคือยุงลาย ซึ่งขยายพันธุ์ในน้ำใส สะอาด ที่อยู่ในบ้านและรอบบริเวณบ้าน หากินรัศมี 100 เมตร ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายและยุงภายในบ้านตนเองทุก 7 วัน ตามมาตรการ 3 เก็บ 5 ส. ก็จะปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งไข้เลือดออก และโรคชิคุนกุนยาด้วย
“ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ปกปิดข้อมูล ได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนร่วมมือและปฏิบัติตัวถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความตระหนก จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ สำหรับข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (5–11 กันยายน 2559) มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 23 ราย ตั้งแต่ต้นปีมีหญิงตั้งครรภ์มีภาวะเสี่ยง 33 ราย คลอดแล้ว 8 ราย ทารกทุกคนปกติ”
ด้านนพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2545 ซึ่งมีผลทำให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น (นายกเทศมนตรี/นายก อบต.) มีอำนาจออกคำสั่งให้เจ้าของบ้านที่ปล่อยปละละเลยให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านของตนต้องทำลายหรือแก้ไขไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ ถ้าผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งมีโทษตามมาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
ข่าวเด่น