วันนี้ (15 กันยายน 2559) นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในวันนี้กรมควบคุมโรค ได้จัดการประชุมคณะกรรมการวิชาการ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค เป็นประธานการประชุม ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการวิชาการครั้งนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 โดยมีผู้เชียวชาญร่วมหารือถึงสถานการณ์และมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ทั้งนี้โรคติดเชื้อไวรัสซิกานี้เป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวังอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่โรคระบาด ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้พิจารณาว่าควรยกระดับโรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคระบาดหรือไม่ และพิจารณาถึงเขตควบคุมโรคระบาด เพื่อให้อำนาจแก่อธิบดีในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดตามมาตรา 9 และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ดำเนินการได้อย่างเต็มที่ตามมาตรา 34
สำหรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาของประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปี 2559 มีผู้ป่วยสะสม 279 ราย และได้หายเป็นปกติแล้ว ยังคงเหลือเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้น ที่มีผู้ป่วยอยู่ 23 ราย ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร หนองคาย จันทบุรี เพชรบูรณ์ นครราชสีมา และลพบุรี ซึ่งมีความแตกต่างจากสถาการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาของประเทศในอาเซียน อย่างประเทศสิงคโปร์ ที่มีการรายงานในช่วงเวลา 1 เดือน พบผู้ป่วยถึง 333 ราย ถือเป็นลักษณะของการระบาดเป็นกลุ่มก้อน
ส่วนสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นโรคจากยุงลายเช่นกัน พบว่าในปีนี้ก็พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเช่นกันแต่ไม่มากเท่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 12 กันยายน 2559 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้ว 40,026 ราย และเสียชีวิต 31 ราย โดยพบผู้ป่วยสัปดาห์ละประมาณ 2,000 ราย ซึ่งมากกว่าผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในแต่ละสัปดาห์ถึง 100 เท่า (ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาสัปดาห์ละประมาณ 20 ราย) เฉพาะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปีนี้พบว่ายังน้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกัน
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลาย ขณะนี้พบดัชนีลูกน้ำยุงลายสูง 3-4 เท่า โดยพบภายในบ้านเฉลี่ยร้อยละ 20-30 โรงเรียนร้อยละ 30-40 นอกจากนี้ยังพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้มีดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ และจากการประเมินดัชนีลูกน้ำยุงลายพบว่าก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกมากที่สุด จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนเร่งดำเนินการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ลดลงอยู่ในดัชนีที่ไม่เกินร้อนละ 5 ให้ได้ โดยดำเนินมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น และขอให้ประชาชนเริ่มต้นดำเนินการที่บ้านของตนเองก่อน จากนั้นขยายไปสู่ชุมชน และสถานที่ส่วนรวม เช่น โรงเรียน วัด และสถานที่ทำงาน เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการเหล่านี้จะทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น