ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
อีเอสอาร์ไอแนะ ควบคุม 'ไวรัสซิกา' ด้วยเทคโนโลยี GIS


 


อีเอสอาร์ไอแนะ ควบคุม 'ไวรัสซิกา' ด้วยเทคโนโลยี GISข้อมูลภูมิสารสนเทศที่ควบคุมและป้องกันโรคระบาดได้จริงทั่วโลก

อีเอสอาร์ไอ (ESRI) แนะใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System - GIS) ในการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของ “ไวรัสซิกา” ชี้ “ข้อมูลเชิงพื้นที่” จะระบุพื้นที่เสี่ยงและวิเคราะห์แนวโน้มการแพร่ระบาด ช่วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเฝ้าติดตาม ป้องกัน และให้ความรู้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องและตรงจุดที่สุด พบกรณีศึกษาในสหรัฐอเมริกาที่ใช้จีไอเอสควบคุมป้องกันไวรัสซิกาเห็นผลจริง 
 
 
 
 
น่าตกใจ! มีผู้เสียชีวิตปีละกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก จากโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ
American Mosquito Control Association สหรัฐอเมริกา เปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจว่า ใน 1 ปี มีผู้เสียชีวิตเกิน 1 ล้านคนทั่วโลกจากโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ อาทิ ไข้มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้เลือดออก ไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเวสต์ไนล์ โรคชิคุนกุนยา และไข้ซิกา ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตามองอยู่ในขณะนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การระบาดของไวรัสซิกาถูกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับในประเทศไทยเอง พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้วในหลายพื้นที่ ทั้งในกรุงเทพมหานคร รวมถึง เพชรบูรณ์ จันทบุรี บึงกาฬ เชียงใหม่ ที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สีแดงคือมีการแพร่กระจายของโรคอย่างกว้างขวางในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา 

ข้อมูลเชิงพื้นที่ผ่านเทคโนโลยี จีไอเอส สำคัญอย่างยิ่งต่อการควบคุมการแพร่ของโรค
 
ดร. เอสเต้ กีราตี้ ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์และผู้อำนวยการระบบสาธารณสนเทศเพื่อการสาธารณสุข บริษัท อีเอสอาร์ไอ จำกัด ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “การป้องกันโรคนั้นเริ่มต้นด้วย การให้ความรู้ โดยประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนช่วยในการให้ข้อมูลเพื่อลดจำนวนสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เช่น ยุงลายได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็สามารถบูรณาการข้อมูลจากหลายภาคส่วนเพื่อการตัดสินใจในการดำเนินการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงที ข้อมูลที่ว่านี้คือข้อมูลเชิงพื้นที่ที่มีความจำเป็นสำหรับการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่ฝนตก ตำแหน่งน้ำขังและน้ำนิ่ง แหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย บริเวณที่มีผู้ป่วยอยู่ ทิศทางการระบาดของโรค รวมถึงความหนาแน่นของโรงพยาบาล ฯลฯ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกบันทึกบนแผนที่ดิจิทัลในซอฟต์แวร์แผนที่อัจฉริยะ หรือที่รู้จักกันว่าภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเห็นปัญหาโรคระบาดได้อย่างเป็นภาพรวม และทำให้สามารถวิเคราะห์สถานการณ์และตัดสินใจในการลงมือควบคุม ป้องกัน เฝ้าระวัง หรือให้ความรู้แก่ประชาชนได้อย่างชาญฉลาด รวมไปถึงสามารถส่งเจ้าหน้าที่ภาคสนามจัดการดูแลพื้นที่เสี่ยงต่อโรคระบาดได้ง่ายและประหยัดเวลาที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น หากข้อมูลนี้สามารถเข้าถึงได้จากทุกคนผ่านระบบออนไลน์จะทำให้คนทั่วไปสามารถรายงานพื้นที่เสี่ยงได้แบบเรียลไทม์และสามารถติดตามข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโรคระบาดเพื่อดำเนินการป้องกันอย่างทันท่วงทีได้” 
  
 
 
ใช้ จีไอเอส ควบคุมป้องกันไวรัสซิกาได้ผลจริงในหลายหน่วยงานทั่วโลก

 
การแพร่ระบาดของไวรัสซิกานี้สามารถควบคุมและเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี   จีไอเอส ซึ่งได้ผลจริงและเกิดขึ้นมาแล้วในหลายหน่วยงานทั่วโลก
 
ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อไวรัสซิการวมแล้วกว่า 300 คน จนเป็นรัฐที่ถูกควบคุมดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกา สำนักงานผู้ช่วยเลขานุการสำหรับการเตรียมความพร้อมและการตอบสนอง (ASPR) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข จึงรวบรวมข้อมูลและบันทึกบนแผนที่ดิจิตอลโดยการใช้ซอฟต์แวร์จีไอเอส ของบริษัทอีเอสอาร์ไอ (ESRI) ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากไวรัสซิกาเป็นอันตรายอย่างมากต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ซึ่งการใช้ซอฟต์แวร์จีไอเอส ช่วยให้ข้อมูลเข้าถึงถิ่นที่มีหญิงตั้งครรภ์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากและคาดการณ์การแพร่ระบาดของโรค ASPR ยังใช้จีไอเอสในการเฝ้าระวังการกระจายตัวของเชื้อไวรัสซิกาในสหรัฐและอีก 34 ประเทศทั่วโลกที่มีผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีแผนที่แบบอินเตอร์แอคทีฟแสดงจำนวนผู้ติดเชื้อในรัฐต่างๆ ซึ่งอัพเดททุกสัปดาห์ และเปิดให้ประชนชนทั่วไปเข้าถึงได้
 
ส่วนศูนย์ภัยพิบัติแปซิฟิก (PDC) ใช้จีไอเอส ของอีเอสอาร์ไอในการติดตามการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาในระดับโลก เพื่อแบ่งปันข้อมูลที่จำเป็นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทั่วโลกนำไปใช้ประโยชน์ในภูมิภาคของหน่วยงานนั้นๆ



ไม่ใช่แค่ไวรัสซิกา จีไอเอสช่วยจัดการโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะได้มีประสิทธิภาพ
หน่วยงานควบคุมยุงและสัตว์พาหะนำโรค (MAVC) ในเขตซานต้า ครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เริ่มใช้เทคโนโลยีจีไอเอสตั้งแต่ช่วงปลายยุค 1990 เพื่อระบุพื้นที่แพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลสภาพพื้นดินและระยะห่างจากแหล่งน้ำ ข้อมูลที่ได้นี้ทำให้หน่วยงานสามารถดำเนินการตรวจสอบเพื่อกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้กว่า 2,500 จุดในทุกๆ 2 สัปดาห์หรือทุกๆ 1 เดือน นอกจากนี้หน่วยงานนี้ยังลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงด้วยอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ (Mobile Device) ซึ่งช่วยให้การเก็บข้อมูลในแต่ละพื้นที่เป็นไปได้อย่างสะดวก แม่นยำและรวดเร็ว 
ด้านหน่วยงานบริการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตมาริโคปา รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา ใช้เทคโนโลยีจีไอเอสในรูปแบบแผนที่อัจฉริยะเพื่อให้ความรู้และสร้างความเข้าใจให้กับชุมชนเกี่ยวกับแหล่งสัตว์พาหะนำโรค เมื่อชุมชนมีความรู้เพียงพอก็จะทำให้สามารถป้องกันตัวเองจากโรคติดต่อได้ 
ณ ขณะนี้ ไวรัสซิกาได้กลายเป็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างเฝ้าระวังกันอย่างเต็มที่    แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้การควบคุมและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ “ข้อมูล” ที่ครบถ้วนและการแสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่แบบเห็นภาพชัดเจน ซึ่งจะทำให้การตัดสินใจในการดำเนินการของทีมควบคุมโรครวดเร็วและแม่นยำมากยิ่งขึ้น และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หรือจีไอเอส จะเป็นผู้ช่วยที่สำคัญของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติหรือนานาชาติ ในการช่วยชุมชนให้ได้รับการปกป้องจากโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            









 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ย. 2559 เวลา : 15:37:17

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:59 am