ก.ล.ต. เปิดเผยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มข้อกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (market misconduct) และมาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty) ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว
นายศักรินทร์ ร่วมรังษี ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่าที่ผ่านมาการกระทำความผิดในตลาดทุนมีความซับซ้อน โดยกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่ครอบคลุมการกระทำความผิดรูปแบบใหม่ ๆ รวมทั้งบทบัญญัติในกฎหมายบางกรณียังไม่ชัดเจน เกิดปัญหาการตีความ จึงอาจไม่เหมาะกับการกระทำความผิดในตลาดทุนที่หลักฐานส่วนใหญ่อยู่กับผู้กระทำความผิด ไม่ทิ้งร่องรอยไว้เหมือนคดีอาญาทั่วไป ทำให้ยากที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ประกอบกับกระบวนการฟ้องคดีอาญานั้นมีหลายขั้นตอน ใช้เวลานานในการดำเนินคดี
“ก.ล.ต. เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ เพื่อปรับปรุงลักษณะการกระทำความผิด และเพิ่มมาตรการในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น โดยการเสนอแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การป้องกันการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ (market misconduct) และ 2) มาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty)”
สำหรับการเสนอแก้ไขกฎหมายเรื่องที่ 1 เกี่ยวกับ market misconduct ได้ปรับปรุงลักษณะความผิดให้ชัดเจนขึ้นและครอบคลุมการกระทำความผิดในลักษณะต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มความผิด ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนและตลาดทุน ครอบคลุมการบอกกล่าวหรือเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือที่จะทำให้เข้าใจผิด รวมถึงการวิเคราะห์หรือคาดการณ์ที่ใช้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือน ซึ่งจะทำให้ผู้ให้ข้อมูลหรือความเห็นต่อประชาชนต้องใช้ความระมัดระวังและความรับผิดชอบในการกระทำดังกล่าว อย่างไรก็ดี ในการคาดการณ์ สามารถทำได้หากตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง ไม่บิดเบือน แม้ในภายหลังจะไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้
ก็ไม่เป็นความผิด
ความผิดในกลุ่มที่ 2 เป็นความผิดเกี่ยวกับการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น โดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลตนรู้มา โดยกฎหมายที่แก้ไขกำหนดให้บุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน ต้องไม่นำข้อมูลไปหาประโยชน์หรือไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น และผู้รับข้อมูลก็ต้องไม่นำไปหาประโยชน์หรือไปเปิดเผยต่อบุคคลอื่นต่อ ๆ ไป โดยกฎหมายจะ สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลวงใน เช่น กรรมการ ผู้บริหาร ที่ซื้อขายหุ้นในช่วงที่มีข้อมูลสำคัญและยังไม่เปิดเผย ถือว่าเป็นผู้ซื้อขายที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายใน และในกรณีผู้ใกล้ชิดกับบุคคลวงใน เช่น ญาติที่ใกล้ชิด หากมีการซื้อขายที่ผิดปกติในช่วงเวลาดังกล่าว ก็จะถือเป็นผู้ซื้อขายที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในเช่นกัน
นอกจากนี้ กฎหมายยังครอบคลุมถึงบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทจัดการกองทุน รวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทดังกล่าว ที่นำข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าไปใช้ประโยชน์โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า (front running) หรือเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นซึ่งอาจอาศัยข้อมูลที่ได้มานั้นไปซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า จะมีความผิดตามกฎหมาย
สำหรับความผิดในกลุ่มที่ 3 เป็นความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ กฎหมายที่แก้ไขแบ่งความผิดเกี่ยวกับการสร้างราคาหลักทรัพย์ออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ 1) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย และ 2) การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะต่อเนื่องจนทำให้ราคา/ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ความผิดกลุ่มนี้มักมีการกระทำร่วมกันเป็นกลุ่ม กฎหมายจึงมีการกำหนดให้การพิสูจน์การกระทำร่วมกันง่ายขึ้น
สำหรับความผิด market misconduct กลุ่มที่ 4 เป็นกฎหมายที่ดูแลความต่อเนื่องและความน่าเชื่อถือของการซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ โดยกำหนดให้การส่งคำสั่งซื้อขายที่อาจจะเป็นเหตุให้ระบบการซื้อขายดังกล่าวสะดุดหรือหยุดชะงักลงเป็นความผิด
นอกจากนี้ กฎหมายใหม่ยังกำหนดความผิดเกี่ยวกับการใช้หรือยอมให้ใช้บัญชี nominee ที่นำไปใช้ในการกระทำความผิดเป็นความผิด market misconduct ด้วย
สำหรับการเสนอแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ในเรื่องที่ 2 เกี่ยวกับการเพิ่มมาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการบังคับใช้กฎหมายได้รวดเร็วขึ้น โดยความผิดที่สามารถบังคับใช้กฎหมายด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่ง จะเป็นความผิดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของตลาดทุน ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ การแสดงข้อความเท็จหรือปกปิดข้อความจริงในเอกสารที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน กรรมการหรือผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด (fiduciary duty) การใช้หรือยอมให้ใช้บัญชี nominee ในการทำ market misconduct โดยเมื่อ ก.ล.ต. เห็นควรใช้มาตรการลงโทษทางแพ่ง จะเสนอคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ประกอบไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบังคับใช้กฎหมาย และด้านตลาดเงินตลาดทุน ได้แก่ อัยการสูงสุด (เป็นประธาน) ปลัดกระทรวงการคลัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเลขาธิการ ก.ล.ต. อย่างไรก็ดี หากผู้กระทำผิดยินยอมและชำระเงินครบถ้วนตามบันทึกการยินยอม คดีจะสิ้นสุดลงทั้งในส่วนมาตรการลงโทษทางแพ่งและทางอาญา แต่หากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมชำระเงิน สำนักงานจะดำเนินการฟ้องผู้กระทำความผิดต่อศาลแพ่งต่อไป
“การปรับปรุง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ในครั้งนี้ ผ่านการพิจารณาโดยผู้เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน กลั่นกรองให้บทบัญญัติในกฎหมายมีความเหมาะสมในการบังคับใช้ และเท่าทันกับพัฒนาการของการกระทำความผิดในตลาดทุนที่มีความซับซ้อนมากขึ้นนอกจากเรื่อง market misconduct และมาตรการลงโทษทางแพ่งแล้ว ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่รองรับการออกหลักทรัพย์ใหม่ ๆ และการออกหลักทรัพย์ของบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาระดมทุนในไทยอีกด้วย” นายศักรินทร์กล่าว
อนึ่ง กฎหมายฉบับแก้ไขนี้ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และจะมีผลใช้บังคับภายหลังการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข่าวเด่น