วันนี้ (18 ก.ย.) เวลา 23.45 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะมีกำหนดออกเดินทางจากประเทศไทย โดยสายการบินไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 18-25 กันยายน 2559 และเดินทางกลับถึงไทยในวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน 2559 เวลา 06.25 น. ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ในการร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายกฯจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปในหัวข้อ “The Sustainable Development Goals: the Universal push to transform our world” และเป็นประธานการประชุม G77 Ministerial Meeting พร้อมทั้งมีกำหนดพบหารือกับผู้นำประเทศ ภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐ และชุมชนไทยในสหรัฐอเมริกา ด้วย
หัวข้อหลักของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติฯ ครั้งที่ 71 คือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา (The SDG’s : a universal push to transform our world)การประชุมในปีนี้มีนัยสำคัญสำหรับประเทศไทยสองประการ คือ ประการแรก ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติครบ 70 ปี ในวันที่ 16 ธันวาคม 2559 โดยเป็นสมาชิกลำดับที่ 55 ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือที่มีมายาวนานระหว่างไทยกับสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเวทีการทูตพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุด และ
ประการที่สอง เป็นปีที่ไทยดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม 77 ซึ่งเป็นกลุ่มเจรจาที่ใหญ่ที่สุดในสหประชาชาติ ประกอบด้วยสมาชิกประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากถึง 134 ประเทศ
นอกจากนี้ ปีนี้ยังมีความสำคัญอีกประการสำหรับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ คือ เป็นปีเริ่มต้นของการนำผลการหารือระหว่างประเทศในกรอบต่าง ๆ ที่สำคัญมาปฏิบัติ อาทิ กรอบเซนไดว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระดมทุนเพื่อการพัฒนา เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ตลอดจนวาระด้านมนุษยธรรม เพื่อผลักดันให้โลกเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน นายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติคนปัจจุบัน ก็จะครบวาระการดำรงตำแหน่งสิ้นปีนี้ และการแต่งตั้งเลขาธิการสหประชาชาติคนใหม่จะมีขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 71 นี้ด้วย
บทบาทหลักของไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 นอกจากการประสานและผลักดันท่าทีของกลุ่มในกระบวนการเจรจาของสหประชาชาติ และส่งเสริมความร่วมมือในกรอบใต้-ใต้ (ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน) แล้ว ไทยยังได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในฐานะแนวทางเลือกหนึ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป โดยผ่านการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ และนำเสนอตัวอย่างและรูปแบบของการปฏิบัติจริงที่ประสบความสำเร็จของไทย เพื่อให้สมาชิกกลุ่ม 77 พิจารณานำไปปรับใช้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์และเงื่อนไขในประเทศของตน
ในการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม 77 ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2559 ที่สหประชาชาติ ไทยในฐานะประธานกลุ่ม ได้กำหนดให้มีวาระการอภิปรายในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม และกล่าวถ้อยแถลงเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วย ผู้เข้าร่วมการประชุมจะประกอบด้วยรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงจากประเทศสมาชิกกลุ่ม 134ประเทศ รวมทั้งเลขาธิการสหประชาชาติและประธานสมัชชาสหประชาชาติด้วย
กิจกรรมหลักอีกประการหนึ่งของนายกรัฐมนตรี คือ การกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไปของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในวันที่ 21 กันยายน 2559 ภายใต้หัวข้อหลักข้างต้น โดยนายกรัฐมนตรีจะแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ของไทยเกี่ยวกับแนวทางการทำงานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นโยบายด้านสังคมเพื่อสร้างความเสมอภาคแก่ประชาชน การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การดูแลผู้โยกย้ายถิ่นฐาน และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการพื้นฐาน ตลอดจนนโยบายการต่างประเทศด้านสันติภาพและความมั่นคงที่เชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนา พร้อมทั้งนำเสนอมุมมองด้านความมั่นคงที่รอบด้านต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศที่สำคัญ ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจะกล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองและประชาธิปไตยของไทย ซึ่งได้ดำเนินไปตามโรดแมปและจะนำไปสู่การมีระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ในช่วงสัปดาห์ที่นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาฯ ยังมีการประชุมและกิจกรรมคู่ขนานสำคัญอีกหลายรายการ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมกิจกรรมระดับสูงเกี่ยวกับการบังคับใช้ความตกลงปารีส และยื่นสัตยาบันสารเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของไทยต่อเลขาธิการสหประชาชาติ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นของไทยในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะเดียวกัน ประเด็นด้านมนุษยธรรมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษในปีนี้ โดยนายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยผู้ลี้ภัย (Leader’s Summit on Refugee) ซึ่งจัดโดยนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสหราชอาณาจักร แคนาดา เยอรมนี สวีเดน ฯลฯ เพื่อแสดงบทบาทและแบ่งปันประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ของไทยในเรื่องการจัดการปัญหาผู้หนีภัยสู้รบและผู้โยกย้ายถิ่นฐาน พร้อมทั้งให้คำมั่นเพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของไทยในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งไทยได้รับความชื่นชมจากสหประชาชาติในฐานะที่มีบทบาทนำในเรื่องผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานในประชาคมอาเซียน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพซึ่งจัดโดยสหประชาชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสาธารณสุข สำหรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมและกิจกรรมคู่ขนานอื่น ๆ ที่สำคัญ อาทิ การประชุมระดับรัฐมนตรีของ ACD และการประชุมในกรอบอาเซียนต่าง ๆ เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับสหประชาชาติ และอาเซียนกับสหรัฐฯ เป็นต้น
การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ นอกจากจะเป็นเวทีให้ไทยได้นำเสนอวิสัยทัศน์ของไทยสู่ประชาคมระหว่างประเทศและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางอนาคตของโลกแล้ว ยังเป็นโอกาสให้นายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศและองค์กรต่าง ๆ จากทั่วโลก เพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศและองค์กรเหล่านั้นอีกด้วย จึงอาจกล่าวโดยรวมได้ว่า การเข้าร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติโดยผู้นำระดับสูง จะเป็นโอกาสให้ไทยได้แสดงศักยภาพและสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนแสดงถึงความรับผิดชอบของประชาชนและรัฐบาลไทยต่อประชาคมโลกด้วย
ข่าวเด่น