มกอช.ปลื้มระบบตามสอบสินค้าเกษตรฯซิวรางวัลจาก กพร. ชี้เป็นเครื่องมือผู้ประกอบการ SMEs ตามสอบแหล่งผลิตสินค้า สถานที่จำหน่าย พร้อมแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตร-อาหาร การันตีคุณภาพ เสริมความเชื่อมั่นผู้บริโภค
นางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า การสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคด้วยระบบตามสอบสินค้าเกษตรสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (ACFS SME Traceability Program) ของ มกอช. เป็นหนึ่งผลงานที่ได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ประเภทการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศระดับดี จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ( กพร.) โดย มกอช.ได้พัฒนาระบบตามสอบฯดังกล่าวขึ้น เพื่อให้กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ และผู้ประกอบการรายย่อยใช้จัดเก็บข้อมูลการตามสอบสินค้าเกษตรและบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ข้อมูลเกษตรกร ข้อมูลกระบวนการผลิต เช่น การปลูก การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การรับวัตถุดิบ คัดเกรด ตัดแต่ง ทำความสะอาด การตรวจสอบคุณภาพ การบรรจุ การแปรรูปและดูแลรักษา รวมถึงการขนส่ง การเคลื่อนย้าย และการควบคุมระบบความปลอดภัย ซึ่งทำให้สามารถตามสอบถึงแหล่งผลิตสินค้า และแหล่งที่ส่งสินค้าไปจำหน่าย โดยนำเทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด (QR Code) มาเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตามสอบเชื่อมโยงถึงผู้บริโภคได้โดยตรง สามารถช่วยแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยสินค้าเกษตรได้สะดวก รวดเร็ว และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น
ระบบตามสอบฯนี้รองรับสินค้ากลุ่มพืชผัก ผลไม้ ข้าว อาหาร และผลิตภัณฑ์แปรรูปสำหรับผู้ประกอบการ 4 ประเภท ได้แก่ โรงคัดบรรจุ จุดกระจายสินค้า ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร ซึ่งผู้บริโภคสามารถใช้สมาร์ทโฟนเรียกดูข้อมูลแหล่งที่มาของสินค้า รวมทั้งชื่อสินค้า และมาตรฐานที่ได้รับการรับรองจาก QR Code บนบรรจุภัณฑ์สินค้าได้ทันที โดยที่ผ่านมา มกอช.ได้จัดฝึกอบรมการใช้ระบบตามสอบฯให้กับผู้ประกอบการแล้วกว่า 700 ราย และมีผู้ลงทะเบียนใช้งานระบบตามสอบฯแล้ว 400 ราย กระจายในพื้นที่ 50 จังหวัดทั่วประเทศ
“สำหรับสินค้าเกษตรที่นำระบบตามสอบฯไปใช้แล้วมีหลายชนิด ได้แก่ หอมแดง เห็ด กระเทียมสด ผักอินทรีย์ สับปะรด มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน เงาะ เมล่อน ส้มโอ กล้วย ฝรั่ง ลิ้นจี่ มะละกอ ลองกอง ลำไย มะม่วง มังคุด แตงโม ข้าวหอมมะลิ ข้าวสังข์หยด ข้าวกล้องงอก ข้าวอินทรีย์ นอกจากนั้น ยังมีอาหาร เช่น สเต็กเนื้อโพนยางคำ สลัดผัก พอคช็อป สลัดบาร์ออร์แกนิค หอยหวานลวก/เผา ปลากะพงนึ่งมะนาว และผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น น้ำมังคุด มังคุดกวน น้ำเห็ดมาชิตาเกะ น้ำพริกแกง กุ้งแก้ว และปลาแห้ง เป็นต้น” เลขาธิการ มกอช.กล่าว
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการสนใจและต้องการนำระบบตามสอบฯไปใช้จำนวนมาก เช่น กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่ผลิตด้วยการทำระบบตามสอบฯและสามารถจัดทำ QR Code ติดบนสินค้าได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการและเกษตรกรมีความได้เปรียบและสามารถแข่งขันทางการค้า ทั้งยังตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังทำให้สินค้ามีภาพลักษณ์ที่ดี ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดในสินค้าระดับพรีเมี่ยม (Premium) ได้ ทำให้ขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น กรณีที่ตรวจพบปัญหาระบบตามสอบฯสามารถช่วยลดต้นทุนการเรียกคืนสินค้าได้โดยจะเรียกคืนเฉพาะสินค้าล็อตที่มีปัญหาเท่านั้น เพื่อลดความเสียหายได้อย่างรวดเร็ว
นางสาวดุจเดือนกล่าวอีกว่า ระบบตามสอบสินค้าเกษตรสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นระบบที่กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนในการพัฒนาระบบเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Web Server) สำหรับการให้บริการข้อมูลและการบำรุงรักษาระบบ โดยสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม มกอช.ได้มีแผนที่จะขยายผลการใช้งานระบบตามสอบฯในสินค้ากลุ่มพืชผักและผลไม้ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลิตผลจำนวนมาก พร้อมส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยใช้งานระบบตามสอบฯแพร่หลายมากขึ้น จะทำให้เกิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจในภาคธุรกิจและภาคการเกษตรของไทย อันจะทำให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพิ่มขึ้นในอนาคต.
ข่าวเด่น