กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สร้างและส่งมอบส้วมสุขอนามัยในถิ่นทุรกันดาร ตามโครงการสุขอนามัย เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับพื้นที่จังหวัดตาก น่าน และอุตรดิตถ์ เพื่อให้มีส้วมใช้งานตามมาตรฐาน HAS สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย
วันนี้ (19 กันยายน 2559) นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน พิธีส่งมอบและเปิดป้ายส้วมสุขอนามัยในโครงการสุขอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรม- ราชกุมารี ระยะที่ 2 ปี 2559 ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านห้วยมะโหนกคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ว่า ตั้งแต่ปี 2539 กรมอนามัยร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เป้าหมายได้ดำเนินงานให้บริการสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก เด็กปฐมวัย ส่งเสริมโภชนาการ ทันตสุขภาพ และสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชน ในโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารมาอย่างต่อเนื่อง เป็นผลทำให้เด็กและเยาวชนมีความเป็นอยู่ที่ดีและมีสุขภาพดีขึ้นตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์สุขภาพนักเรียนและอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนปัจจุบันยังพบว่า นักเรียนประถมเตี้ย ร้อยละ 9 ฟันผุ ร้อยละ 53 และมีส้วมไม่เพียงพอ ชำรุด ร้อยละ 21 ไม่ถูกสุขลักษณะมีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 48 และไม่สะอาด ร้อยละ 35
อีกทั้งสถานการณ์สุขภาพอนามัยแม่และเด็กและอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมาก เข้าถึงยากลำบากมาก ส่วนใหญ่ยังคงพบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อาทิ หญิงมีบุตรอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 27 ฝากครรภ์ร้อยละ 48 คลอดกับหมอตำแย ร้อยละ 63 อัตราตายทารก 31 ต่อพันประชากร ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 17 เด็กอายุ 0-5 ปี มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 32 เตี้ย ร้อยละ 47 ผอม ร้อยละ 15 เด็กอายุ 6-15 ปี เตี้ย ร้อยละ 34 ผอม ร้อยละ 6 โดยสภาพแวดล้อมเรื่องส้วมบนพื้นที่สูงพบว่า บางหมู่บ้านมีส้วม 1 ห้อง อยู่ที่ศูนย์การเรียนฯ และบางหมู่บ้านมีส้วมไม่ครบทุกหลังคาเรือนและมีสภาพส้วมไม่ถูกสุขลักษณะ
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ในปี 2557-2558 กรมอนามัยได้จัดทำโครงการสุขอนามัย เฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ภายใต้การมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายเพื่อสร้างและปรับปรุงส้วมโรงเรียนเป้าหมายในถิ่นทุรกันดารจนบรรลุผลสำเร็จเรียบร้อยแล้ว 81 แห่ง ต่อมาจึงขยายผลโครงการในระยะที่ 2 ปี 2559 ตามความขาดแคลนและความจำเป็นของโรงเรียนเพิ่มอีก 39 แห่ง รวมทั้งสิ้น 120 แห่ง ซึ่งโรงเรียนเป้าหมายในถิ่นทุรกันดารหลายพื้นที่ได้สร้างและปรับปรุงส้วมเสร็จ และทยอยส่งมอบแล้ว รวมถึงในครั้งนี้ด้วย โดยกรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาน ที่ให้การสนับสนุนเงินบริจาคสมทบกองทุน กพด.ปูนซีเมนต์ สุขภัณฑ์ และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับใช้ในการสร้างและปรับปรุงส้วมให้กับโรงเรียนเป้าหมายในถิ่นทุรกันดาร จัดให้มีการส่งมอบส้วมสุขอนามัยให้กับศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างจังหวัดตาก น่าน และอุตรดิตถ์ ที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วรวม 16 แห่ง อาทิ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง บ้านห้วยมะโหนกคี อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก บ้านห้วยลู่ อำเภอเมือง จังหวัดน่าน และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนยอดโพธิ์ทอง 1อำเภอบ้านโคก จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นต้น
"ทั้งนี้ หากไม่มีการจัดการส้วมที่ถูกหลักสุขาภิบาล รวมทั้งการปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกวิธี ส้วมก็จะกลายเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัยสนับสนุนการมีและใช้ส้วมที่ได้มาตรฐาน HAS คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) และมีพฤติกรรมการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ คือ ไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบชักโครก ไม่ทิ้งวัสดุอื่นใดนอกจากกระดาษชำระลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม เพื่อช่วยกันดูแลรักษาความสะอาดส้วมในโรงเรียนและลดจุดเสี่ยงของการเกิดโรค” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น