การยางแห่งประเทศไทย เผยผลการมาเยือนของนักธุรกิจอินเดีย ในการเจรจาผู้ซื้อพบผู้ขายทั้งในพื้นที่ภาคใต้ จ.สงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.บึงกาฬ ที่ผ่านมา พร้อมเตรียมให้การยางฯ เดินหน้าพัฒนาคุณภาพยางพาราไทยให้มีมาตรฐาน เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ
ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เผยว่า การเดินทางไปประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นับว่าเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดและความร่วมมือในด้านต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งประสานความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้สินค้าเกษตรอย่างยางพารา ซึ่งเป็นที่ต้องการของประเทศอินเดียในการแปรรูปอุตสาหกรรมยางล้อ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เพื่อใช้ภายในประเทศค่อนข้างสูง โดยประเทศอินเดีย มีปริมาณการใช้ยางในประเทศ 9 แสน – 1.1 ล้านตันต่อปี ในขณะที่ผลิตยางภายในประเทศได้ปีละ 5 แสนตัน ดังนั้น ประเทศอินเดียยังมีความต้องการใช้ยางในประเทศประมาณ 4-5 แสนตันต่อปี จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย ในฐานะผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก จะส่งวัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ
ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า การต้อนรับคณะนักธุรกิจยางพาราจากอินเดีย เพื่อพบปะและเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการทั้งภาคเอกชน และสถาบันเกษตรกรของไทยในพื้นที่ภาคใต้ ที่ จ.สงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกยางเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และมีศักยภาพในการรวบรวมผลผลิต การแปรรูปยางเพื่อส่งออก รวมถึงความได้เปรียบในระบบการคมนาคมขนส่งสินค้าไปต่างประเทศ โดยได้รับการประสานงานเป็นอย่างดีจาก การยางแห่งประเทศไทย สมาคมนักธุรกิจไทย-อินเดีย และสถานเอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงนิวเดลี โดยผลการเจรจาในครั้งนี้ ประเทศไทยได้ทราบถึงปริมาณความต้องการยางพารา และความต้องการของบริษัทผู้ผลิตยางล้อ โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของวัตถุดิบ ปัญหาเรื่องกลิ่น ทั้งนี้ เตรียมมอบให้ กยท. เร่งให้ความรู้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาคุณภาพยางไทยทั้งระบบให้ได้มาตรฐานระดับสากล
“การมาเยือนของคณะนักธุรกิจอินเดียในครั้งนี้ มีผู้ซื้อยางหลายบริษัทที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี ผ่านทางการยางแห่งประเทศไทย โดย กยท.จะเป็นผู้ประสานงานหาตัวอย่างผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง STR 20 จากสหกรณ์ต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีความพร้อมด้านการแปรรูป ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานการรับรองกับผู้ซื้อ และส่งให้บริษัทในประเทศอินเดียพิจารณาก่อนซื้อขาย นอกจากนี้ ยังมีความต้องการยางไทยจากหลายบริษัทในประเทศจีนที่ติดต่อเข้ามา จึงได้มอบให้ กยท. พิจารณาการจะเข้าไปรับซื้อยางตลาดในประเทศ เพื่อให้ได้สินค้าตรงตามความต้องการของผู้ซื้อแต่ละรายต่อไป” ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย
ข่าวเด่น