ตามที่ เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2559 โดยมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้จัดตั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผนส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การอุตุนิยมวิทยา การสถิติและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนด โดยสื่อออนไลน์และสังคมออนไลน์ที่หลายคนใช้อยู่ทุกวันนี้ ก็เป็นสื่อดิจิทัลสื่อหนึ่งที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงนี้ด้วยเช่นกัน และผู้ที่ใช้ส่วนหนึ่งนั้นก็คือเยาวชน
ประกอบกับในวันที่ 20 กันยายน ของทุกปี ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้สำรวจความเห็นของเยาวชนเรื่อง “ความคาดหวังของเยาวชนด้านการใช้สื่อดิจิทัล หลังการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” โดยเก็บข้อมูลจากเยาวชนในกรุงเทพฯลำปริมณฑล จำนวน 1,248 คน พบว่า
เยาวชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 32.5 ใช้เวลาอยู่กับสื่อออนไลน์และสังคมออนไลน์ ประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน รองลงมา ร้อยละ 18.9 ใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน และร้อยละ 13.7 ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแล้วพบว่า ร้อยละของเยาวชนที่ใช้เวลาอยู่กับสื่อออนไลน์/สังคมออนไลน์ตั้งแต่ 5 ชั่วโมงไปจนถึงมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวัน มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2556
โดยผลสำรวจความสุขที่เยาวชนได้รับจาก การใช้สื่อออนไลน์/สังคมออนไลน์พบว่า ร้อยละ 75.1 เป็นความสุขที่ได้พูดคุย/chat รองลงมาร้อยละ 48.5 ได้รับความสุขจากการได้ติดตามข่าวสารต่างๆ และ 48.1 ได้รับความสุขจากการได้ดูความเคลื่อนไหวของเพื่อนๆ
ด้านพฤติกรรมการแชร์หรือส่งต่อข้อมูลผ่าน สื่อออนไลน์ / สังคมออนไลน์ เยาวชนร้อยละ 71.5 มีพฤติกรรม อ่านจบคิดก่อนเห็นว่าดีจึงแชร์ รองลงมาร้อยละ 11.1 ระบุว่า มีพฤติกรรมแชร์เฉพาะเรื่องที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม และร้อยละ 7.5 ระบุว่า เค้าแชร์มาเราแชร์ต่อ เพิ่มยอดวิว
ด้านความคิดเห็นของเยาวชนต่อภัยและความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจาก สื่อออนไลน์ / สังคมออนไลน์ นั้น ร้อยละ 61.9 คิดว่า เสี่ยงโดนล้วงข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาต รองลงมาร้อยละ 45.4 เสี่ยงถูกหลอก ล่อลวง ให้หลงเชื่อ และ ร้อยละ 43.9 เสียงโดนปล่อยไวรัส เข้าใน smartphone / คอมพิวเตอร์
สุดท้ายเรื่องที่คาดหวังให้ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” เข้ามาดูแลเยาวชนมากที่สุด ร้อยละ 30.5 คาดหวังเรื่องการแยกแยะสื่อ/ข้อมูล ที่เหมาะสมกับเยาวชน รองลงมาร้อยละ 27.1 คาดหวังเรื่องการ ป้องกันภัย/การเข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต และ 17.6 คาดหวังให้มีความรวดเร็วในการแก้ปัญหาเยาวชนที่เกิดจากโลกออนไลน์
ข่าวเด่น