เปิดผลติดตามโซนนิ่งเกษตร สศก.ลุย 16 จังหวัด ตามติดเกษตรกรร่วมโครงการ เล็งขยายผลพื้นที่ต่อเนื่อง
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลุย 16 จังหวัดประเมินโครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เผยเกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้มีการนำไปใช้ประโยชน์จริง ระบุ ร้อยละ 90 สามารถลดต้นทุนได้ เช่น ลดปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าว สารเคมีและปุ๋ยเคมี เป็นต้น
นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลประเมินผลภาพรวมการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri - Map) ปี 2558/59 ซึ่งเป็นการบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกรมพัฒนาที่ดินเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อบริหารจัดการพื้นที่และสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจให้ได้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการ และมีเขตเกษตรเศรษฐกิจที่เหมาะสมตามนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรที่สำคัญ
จากการติดตาม โดยสัมภาษณ์เกษตรกรจำนวน 416 ราย พื้นที่ 16 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุตรดิตถ์ พิจิตร พิษณุโลก กำแพงเพชร อำนาจเจริญ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี และชุมพร ระหว่างสิงหาคมที่ผ่านมา พบว่า
การขับเคลื่อนในพื้นที่เขตเหมาะสม (S1 และ S2) หลังได้รับการถ่ายทอดความรู้ เกษตรกรมีความรู้ในระดับ มาก คิดเป็นร้อยละ 58 เกษตรกรที่เคยใช้บริการ ศพก. และที่เป็นสมาชิกแปลงใหญ่ ร้อยละ 79 ทราบถึงระดับความเหมาะสม (S1, S2, S3 และ N) ของพื้นที่การเกษตร เกษตรกรที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ร้อยละ 98 นำความรู้ไปใช้แล้ว เกษตรกรที่นำความรู้ไปใช้ร้อยละ 90 สามารถลดต้นทุนได้ โดยลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวจากเดิมใช้เมล็ดพันธุ์เฉลี่ย 28 ก.ก./ไร่ เหลือ 16 ก.ก./ไร่ หรือต้นทุนลดลงจำนวน 252 บาทต่อไร่ จากการทำการเกษตรแบบประณีต และใช้เครื่องหยอดเมล็ด นอกจากนี้ สามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีลง จากเดิมใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ย 44 ก.ก./ไร่ เหลือ 18 ก.ก./ไร่ หรือต้นทุนลดลงจำนวน 312 บาทต่อไร่ โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์/ชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี และลดการใช้สารเคมีป้องกันโรงพืชและแมลง จากเดิม 152 บาท/ไร่ เหลือ 35 บาท/ไร่ โดยใช้ชีวภัณฑ์ และชีวภาพ ส่วนร้อยละ 10 ยังลดต้นทุนไม่ได้ เนื่องจาก เกษตรกรเพิ่งเริ่มปฏิบัติ และปฏิบัติแล้วแต่ยังไม่เห็นผล เป็นต้น
การขับเคลื่อนการปฏิบัติและส่งเสริมในพื้นที่ที่ทำการผลิตไม่เหมาะสม (S3 และ N) หลังได้รับการถ่ายทอดความรู้ เกษตรกรมีความรู้ในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 40 รองลงมาคือ ปานกลาง ร้อยละ 55 เนื่องจาก เกษตรกรเพิ่งเริ่มเรียนรู้ เข้าใจเพียงบางส่วน โดยเกษตรกรร้อย 44 ทราบถึงระดับความเหมาะสม (S1, S2, S3 และ N) ของพื้นที่การเกษตรของตนเอง ร้อยละ 56 ไม่ทราบระดับความเหมาะสม (ทราบเพียงแค่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมเท่านั้น) เนื่องจาก เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการถ่ายทอดความรู้จาก ศพก. และไม่ได้เข้าร่วมเกษตรแบบแปลงใหญ่
ด้านความพึงพอใจ เกษตรกรมีความพึงพอใจต่อการเข้าร่วมโครงการในระดับมาก คิดเป็นร้อยละ 77 และร้อยละ 68 ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีความคิดเห็นว่า การเข้าร่วมโครงการทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และมีรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยข้อเสนอแนะของเกษตรกร เห็นว่าการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการผลิตต้องมีตลาดรองรับสินค้า และมีราคารับซื้อที่แน่นอน หรือมีการประกันราคาสินค้า ควรจัดทำแผนที่ ให้เข้าใจง่ายกว่าเดิม เนื่องจากเกษตรกรบางรายเป็นผู้สูงอายุ และบางรายไม่ได้เรียนหนังสือ โดยต้องการให้สนับสนุนอุปกรณ์ในการทำปุ๋ยอินทรีย์ และเมื่อเกษตรกรทำการปรับเปลี่ยนแล้ว ควรมีมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเนื่องในระยะแรก ควบคู่กับการขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป
ทั้งนี้ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต (เพิ่มเติม) จำนวน 5 โครงการ ประกอบด้วย (1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า และ (5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น วงเงินรวม 15,597.340 ล้านบาท เพื่อลดพื้นที่ปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม รวม 40 จังหวัด พื้นที่ 570,000 ไร่ และการปรับเปลี่ยนอาชีพที่สร้างรายได้ดีกว่าทำนา ได้แก่ ปศุสัตว์ ทำนาหญ้า และเกษตรกรรมทางเลือกเพื่อลดความเสี่ยงและมีรายได้เสริม
ข่าวเด่น