ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
แจงผลธนาคารสินค้าเกษตร เกษตรกรมั่นใจรูปแบบบริหารดี


 


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ผลโครงการธนาคารสินค้าเกษตรปี 2559 ทั้ง 5 โครงการ ภาพรวมเกษตรกร ร้อยละ 88 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารอย่างมาก เพราะเข้าใจปัญหาในพื้นที่อย่างดี มั่นใจ นโยบายธนาคารจะช่วยลดต้นทุน และแก้ไขปัญหาทางการเกษตรให้กับเกษตรกร ยืนยัน จะมาใช้บริการธนาคารต่อไปแน่นอน

นายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึง     ผลการดำเนินงานโครงการธนาคารสินค้าเกษตรปี 2559 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินงานทั้งหมด 5 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ (กรมพัฒนาที่ดิน) ธนาคารข้าวสถาบันเกษตรกร (กรมส่งเสริมสหกรณ์) ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน (กรมการข้าว) ธนาคารโคนมทดแทนฝูง (กรมส่งเสริมสหกรณ์)  และธนาคารโค – กระบือเพื่อเกษตรกร (กรมปศุสัตว์)          โดยทั้ง 5 โครงการ เป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต เช่น ให้บริการยืมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อไปผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ดีเพาะปลูกในพื้นที่ ให้บริการยืมวัสดุ/แลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้ในการเกษตร ให้ยืมโค – กระบือ เพื่อการผลิต และรับฝากเลี้ยงลูกโคนม เพื่อลดภาระของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม 

ในการนี้ สศก. ได้สัมภาษณ์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 317 ราย ในพื้นที่ 10 จังหวัด ช่วงเดือนสิงหาคม 2559 พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับทราบข่าวธนาคารสินค้าเกษตรจากสื่อบุคคล ได้แก่ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ประธานกลุ่ม และผู้ใหญ่บ้านมากที่สุด โดย เกษตรกรร้อยละ 65 รู้จักธนาคารสินค้าเกษตร โดยรู้จักธนาคารโค-กระบือ          มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 60 รองลงมา รู้จักธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ร้อยละ 45 ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ร้อยละ 37 ธนาคารข้าวสถาบันเกษตรกร และธนาคารโคนมทดแทนฝูง คิดเป็นร้อยละ 18 และ 15 ตามลำดับ

เกษตรกรสมาชิกร้อยละ 87 มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการธนาคารสินค้าเกษตร โดยร่วมกันคัดเลือกคณะกรรมการเพื่อมาบริหารการดำเนินงานธนาคาร ร่วมกันกำหนดระเบียบ กฎเกณฑ์ และเงื่อนไขการใช้บริการธนาคาร ร่วมกันจัดหาทรัพยากรเพื่อสำรองไว้ใช้ในธนาคาร และร่วมกันช่วยตรวจสอบ คัดเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพของสมาชิกในธนาคาร             โดยคณะกรรมการที่ได้รับคัดเลือก มีการประชุมสมาชิกเพื่อรายงานผลการดำเนินงานต่างๆ ของธนาคารเฉลี่ย 1 ครั้งต่อเดือน และจะมีการจัดทำทะเบียนบัญชีเพื่อฝาก/ถอน ของสมาชิกแยกออกมาต่างหากอย่างชัดเจน

สำหรับธนาคารสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ ได้เริ่มเปิดใช้บริการให้กับสมาชิกเกษตรกรแล้ว โดยมีเกษตรกรมาใช้บริการ เช่น ยืมเมล็ดพันธุ์ข้าว น้ำมัน ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ยาฆ่าหญ้า โค-กระบือ ฝากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ และฝากลูกโคนมเข้าธนาคาร  ซึ่งภาพรวมเกษตรกรร้อยละ 88 มีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารงานธนาคารอย่างมาก เนื่องจากคณะกรรมการมาจากสมาชิกในชุมชน สามารถเข้าใจปัญหาในพื้นที่ได้ดี และมีความสามารถในการจัดสรรทรัพยากรให้สมาชิกได้รับกันอย่างทั่วถึง ซึ่งเกษตรกรร้อยละ 96 ต้องการจะมาใช้บริการธนาคารต่อไป เนื่องจากช่วยลดภาระต้นทุนลงได้มาก ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย หรือเสียค่าอาหารในการเลี้ยงลูกโคนม ที่ยังไม่ได้ให้ผลผลิต ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเกษตรกรที่ได้ใช้บริการ ร้อยละ 97 เห็นว่ามีต้นทุนการผลิตลดลง และมีรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธนาคารสินค้าเกษตรบางธนาคารเพิ่งมีการจัดตั้งเมื่อปลายปี 2557 และเริ่มดำเนินการเปิดใช้บริการเมื่อกลางปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงที่เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกไปแล้ว เกษตรกรบางรายประสบภาวะแล้ง ทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้หรือมีการปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอายุสั้นอื่นๆ ประกอบกับการใช้บริการธนาคารในปี 2559 ในช่วงเดือนสิงหาคม เป็นช่วงที่เกษตรกรเพิ่งเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกและจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนธันวาคม 2559 จึงทำให้ยังไม่เห็นผลการใช้บริการธนาคารสินค้าเกษตรชัดเจนนัก
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 20 ก.ย. 2559 เวลา : 13:38:38

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:00 am