กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เก็บตัวอย่างน้ำพริกพร้อมบริโภคที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร และ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เก็บตัวอย่างน้ำพริกพร้อมบริโภค เช่น น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกะปิ น้ำพริกขี้กา น้ำพริกเผา น้ำพริกปลาร้าสับ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกนรก แจ่วบอง เป็นต้น ที่จำหน่ายตามตลาดสด ตลาดนัด ศูนย์โอทอป ศูนย์ของฝากทั่วประเทศ เพื่อตรวจเฝ้าระวังคุณภาพและความปลอดภัยน้ำพริกพร้อมบริโภคของประเทศไทย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555-2558 รวมทั้งสิ้น 1,071 ตัวอย่าง
พบว่า ไม่ผ่านมาตรฐาน 164 ตัวอย่าง (ร้อยละ 15) เป็นน้ำพริกพร้อมบริโภคแบบเปียก 346 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐาน 84 ตัวอย่าง (ร้อยละ 24) และน้ำพริกแบบแห้ง 725 ตัวอย่าง ไม่ผ่านมาตรฐาน 80 ตัวอย่าง (ร้อยละ 11) สาเหตุที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ด้านเคมี พบการใช้วัตถุกันเสียเกินปริมาณที่อนุญาต ร้อยละ 11 ชนิดของวัตถุกันเสียที่พบมากสุด ได้แก่ กรดเบนโซอิค โดยปริมาณที่พบในน้ำพริกแบบแห้ง 1,089-6,872 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และน้ำพริกแบบเปียก 1,005-14,004 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ข้อกำหนดอ้างอิงตามมาตรฐาน โคเด็กซ์ (CODEX) ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ด้านจุลชีวิวทยา พบการปนเปื้อนจุลินทรีย์และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษเกินเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 4.7 พบมากที่สุดในน้ำพริกแบบแห้ง พบจำนวนจุลินทรีย์รวม ร้อยะ 2.9 เชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) และเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน (Clostridium perfringens) ร้อยละ 1.2 น้ำพริกแบบเปียก พบจำนวนจุลินทรีย์รวม ร้อยละ 1.4 เชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ร้อยละ 1.4 จากผลตรวจที่ได้ พบว่า น้ำพริกแบบเปียกพบการใช้วัตถุกันเสีย เกินเกณฑ์มาตรฐาน ร้อยละ 29.7 มากกว่าน้ำพริกแบบแห้งที่ตรวจพบ ร้อยละ 12 น้ำพริกแบบแห้ง มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ ร้อยละ 2.9 มากกว่าน้ำพริกแบบเปียก ร้อยละ 1.4 เชื้อโรคอาหารเป็นพิษ น้ำพริกทั้ง 2 แบบ มีโอกาสตรวจพบเชื้อบาซีลัส ซีเรียส และ เชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน ร้อยละ 14 เท่ากัน สำหรับเชื้อ สเเตปฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) และเชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella spp.) ตรวจไม่พบทุกตัวอย่าง
นายแพทย์อภิชัย กล่าวต่ออีกว่า น้ำพริกพร้อมบริโภคมีคุณภาพไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนด ส่วนใหญ่พบการใช้วัตถุกันเสีย ทั้งกรดเบนโซอิดและกรดซอร์บิค เกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนด แต่เมื่อนำมาประเมินความเสี่ยงกรดเบนโซอิคและกรดซอบิค จากการบริโภคน้ำพริกคลุกข้าว โดยอ้างอิงจากข้อมูลการบริโภคอาหารของประเทศไทย พบว่า ปริมาณการได้รับสัมผัส ยังอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ก็ต้องมีการตรวจเฝ้าระวังเป็นประจำ สำหรับด้านจุลชีววิทยา พบการปนเปื้อนจุลินทรีย์เกินเกณฑ์ ยีสต์และรา และจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษ สำหรับจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษที่พบว่าเป็นปัญหา ได้แก่ เชื้อบาซีลัส ซีเรียส และเชื้อคลอสตริเดียม เพอร์ฟิงเจน ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่สร้างสปอร์ พบในดินและฝุ่น จึงมักติดปนมากับวัตถุดิบ เช่น พริก เครื่องเทศ และสมุนไพร สปอร์ของเชื้อเหล่านี้ถูกทำลายได้ยากภายใต้กระบวนการผลิตน้ำพริกที่ใช้ความร้อนไม่สูงนัก นอกจากนี้ยังพบว่า เขตสุขภาพที่พบว่าน้ำพริกพร้อมบริโภคไม่ผ่านมาตรฐานมากที่สุด 2 อันดับแรก ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย รองลงมาคือ เขตสุขภาพที่ 9 จังหวัดนครราชสีมา และส่วนใหญ่มาจากผลิตภัณฑ์ชุมชน
ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้องค์ความรู้อย่างต่อเนื่องแก่ผู้ผลิต เพราะมีผู้ประกอบการหลายใหม่ๆ เกิดขึ้นเป็นประจำ ความรู้เกี่ยวกับการคัดเลือกวัตถุดิบ การเก็บรักษาวัถตุดิบ กรรมวิธีการผลิตที่ดี สะอาดถูกหลักอนามัย และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจําหน่าย สำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อ ควรเลือกที่ผลิตใหม่ๆ มีฉลาก ระบุเลขสารบบอาหาร วันผลิต วันหมดอายุ และเมื่อเปิดรับประทานตักแบ่งมาบริโภค แล้วปิดฝาให้มิดชิด และควรเก็บเข้าตู้เย็น
ข่าวเด่น