กรมสบส.ส่งทีมวิศวกร เฝ้าระวังโรงพยาบาลที่อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และที่อ.บ้านด่านลานหอย สุโขทัย ให้อสม. ย้ำเตือนประชา?ชนในพื้นที่?ฝนตก-น้ำท่?วมขังระวัง“โรคฉี่หนู”ปีนี้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งทีมวิศวกรเคลื่อนที่เร็วเฝ้าระวังประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในอ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และที่โรงพยาบาลบ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย เพื่อป้องกันความเสียหายเครื่องมือแพทย์ พร้อมให้อสม.ย้ำเตือนประชาชนในพื้นที่ฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง ให้ระวังโรคฉี่หนู ปีนี้มีผู้เสียชีวิต แล้ว 19 ราย แนะหากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่องโคนขาทั้ง 2 ข้าง ตาแดง ให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลน เพื่อรักษาให้รวดเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรมสบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมจากฝนตกหนักในหลายพื้นที่ว่า ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพทุกเขตดำเนินการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยจัดทีมวิศวกรพร้อมเครื่องมือเคลื่อนที่เร็ว ให้การสนับสนุนแก่โรงพยาบาลที่ประสบภัยน้ำท่วมทันที เพื่อดูแลความปลอดภัยของสถานพยาบาลและเครื่องมือแพทย์ต่างๆที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้ในการปฏิบัติงานดูแลรักษาผู้เจ็บป่วย ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับรายงานจากผู้อำนวยการสำนักงานสนับสนุนบริการสุขภาพเขต 1 จ.เชียงใหม่ และเขต 2 จ.พิษณุโลกว่าวันนี้ทีมวิศวกรเคลื่อนที่เร็วออกปฎิบัติการพื้นที่เสี่ยงถูกน้ำท่วม 2 จังหวัดได้แก่โรงพยาบาลบ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย และอ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เพื่อติดตามประเมินสถานการณ์ พร้อมให้การช่วยเหลืออย่างทันการหากเกิดเหตุน้ำท่วม
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง กล่าวต่อว่า ในส่วนของการดูแลสุขภาพประชาชน ได้ขอความร่วมมือให้อาสาสมัครสาธารณสุขหรืออสม. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่มีฝนตกหนัก มีสภาพน้ำท่วมขังและภายหลังน้ำลดแล้วจะทำให้สภาพพื้นดินในบริเวณที่พักอาศัยหรือทางเดิน เป็นดินโคลนชื้นแฉะ อาจมีเชื้อโรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในไตหนูหรือสัตว์รังโรคอื่นๆ เช่น โค กระบือ และเชื้อจะออกมาพร้อมกับฉี่ของสัตว์เหล่านั้น เชื้อโรคนี้อาจปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำขัง หรือหลุมบ่อเล็กๆ และเชื้อมีชีวิตอยู่ในน้ำ ดินแฉะๆได้นานหลายวัน มีโอกาสติดต่อมาสู่คนได้สูง โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกต่างๆตามร่างกาย หรือแม้กระทั่งผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำนานๆ ในปีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 –7 กันยายน 2559 สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงานมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 19 ราย
ทางด้าน สัตวแพทย์หญิงเสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย นายสัตวแพทย์เชี่ยวชาญ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการป้องกันโรคดังกล่าว ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขังหรือเดินย่ำโคลน พื้นดินชื้นแฉะ รวมทั้งแอ่งน้ำขังเล็กๆ หากมีความจำเป็นต้องเดินลุย ควรสวมรองเท้าบู๊ทยางป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดิน รวมทั้งป้องกันสิ่งของมีคมทิ่มแทง และให้รีบชำระล้างทำความสะอาดหลังเดินย่ำน้ำย่ำโคลนแล้ว ขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กเล็กใกล้ชิด เนื่องจากเด็กยังไม่รู้จักวิธีการป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ขอให้ประชาชนดูแลบ้านให้สะอาด กำจัดขยะและเศษอาหารให้ถูกวิธี โดยใส่ในถุงพลาสติกหรือในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
ทั้งนี้อาการของโรคฉี่หนูที่สำคัญได้แก่ มีไข้สูงฉับพลัน ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่องโคนขาทั้ง 2 ข้าง ตาแดง หากมีอาการดังกล่าวขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการลุยน้ำย่ำโคลน เพื่อรักษาให้รวดเร็ว โรคนี้มียารักษาหายขาด ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง หากได้รับการรักษาช้า โรคอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
ข่าวเด่น