ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 20 ก.ย. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป
มท. เสนอว่า เนื่องจากบทบัญญัติในกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองซึ่งใช้บังคับอยู่ ไม่มีมาตรการทางกฎหมายเพียงพอที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมืองได้ มท. จึงได้ปรับปรุงพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ทั้งฉบับ เพื่อปรับรูปแบบและวิธีการวางและจัดทำผังเมืองทั้งระบบ โดยการกำหนดประเภทของผังเมืองออกเป็นผังในระดับนโยบาย ได้แก่ ผังประเทศ ผังภาค ผังจังหวัด และผังระดับปฏิบัติ ได้แก่ ผังเมืองรวม ผังเมืองเฉพาะ ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการผังเมืองในแต่ละระดับดังกล่าว กำหนดให้มีการกระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองในพื้นที่ของตน การกำหนดรูปแบบและวิธีการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผัง ตลอดถึงการบริหารจัดการผังเมือง เพื่อให้รูปแบบ การดำเนินการ และการบริหารจัดการเหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบันโดยสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การเมือง เพื่อให้การผังเมืองเป็นกรอบนโยบายตั้งแต่ในระดับประเทศ ระดับภาค และถ่ายทอดลงไปตามลำดับจนถึงผังเมืองในระดับปฏิบัติ โดยสามารถชี้นำการพัฒนาภาครัฐและภาคเอกชนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานด้านผังเมืองให้มีประสิทธิภาพทั้งในด้านการพัฒนาและการควบคุมซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และบุคคลภายนอกผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัตินี้
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือ รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ กรรมการโดยตำแหน่ง และปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย เป้าหมายที่เกี่ยวกับการผังเมืองของประเทศ เช่น หลักเกณฑ์การใช้ที่ดิน การพัฒนาและการดำเนินการตามผังเมือง ให้ความเห็นชอบผังประเทศ และผังภาค เป็นต้น
3. กำหนดให้มีคณะกรรมการผังเมือง โดยมีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานผังเมือง ให้ความเห็นชอบผังจังหวัดและผังเมืองรวมที่กรมโยธาธิการและผังเมืองวางและจัดทำผัง ให้ความเห็นชอบผังเมืองเฉพาะ ชี้ขาดปัญหาต่าง ๆ ในการวางผังเมือง เป็นต้น
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบผังเมืองรวมที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้วางและจัดทำผัง เป็นต้น
5. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำและหลักเกณฑ์การใช้บังคับผังประเทศ ผังภาค ผังจังหวัด ผังเมืองรวม และผังเมืองเฉพาะ
6. กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น โดยในเขตกรุงเทพมหานครให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกรรมการ และในเขตจังหวัดอื่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ
7. กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการอุทธรณ์ และกำหนดให้มีคณะกรรมการอุทธรณ์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกรรมการ
8. กำหนดให้ผังเมืองแต่ละประเภทไม่มีอายุการใช้บังคับ แต่ใช้ระบบประเมินผลผังในระรอบระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี
ข่าวเด่น