สายงานรองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ดำเนินงานเชิงรุก ติดตั้งระบบคาดการณ์ข้อมูลลมในพื้นที่รอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา รองรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ช่วยเฝ้าระวังคุณภาพอากาศและดูแลคุณภาพชีวิตของชุมชน หลังใช้งานได้อย่างดีที่แม่เมาะและบางปะกง
นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เผยถึงความคืบหน้าของระบบคาดการณ์ข้อมูลลมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าว่า เพื่อเป็นการรองรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ. จึงได้พัฒนาระบบคาดการณ์ข้อมูลลมฯ ให้สามารถใช้คาดการณ์ข้อมูลลมเพิ่มเติมในอีก 2 พื้นที่ คือพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการขยายผลการใช้งานระบบคาดการณ์ข้อมูลลมฯ ไปยังโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ หลังจากที่ระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างดีในพื้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะและโรงไฟฟ้าบางปะกงแล้ว โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์แห่งเดียวของประเทศยังมีความสนใจและต้องการให้ดำเนินการคาดการณ์การแพร่กระจายของมลสารในพื้นที่แม่เมาะเพิ่มเติม รวมทั้งจะนำผลที่ได้ทั้งหมดมาประยุกต์ใช้งานจริง และนำขึ้นแสดงผลพร้อมทั้งให้คำอธิบายแก่ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าต่อไป ซึ่งจะเป็นการเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของ กฟผ. และเพิ่มระดับความมั่นใจในการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมทางอากาศให้เกิดแก่สังคมมากขึ้นในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.
นายรัตนชัย กล่าวต่อไปว่า ระบบคาดการณ์ข้อมูลลมฯ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณรอบโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ประกอบด้วยพื้นที่รอบโครงการโรงไฟฟ้าไปจนถึงท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วขนาดพื้นที่ 130 กม. x 130 กม. และพื้นที่เส้นทางขนส่งถ่านหินชายฝั่งทะเลอันดามัน รวมพื้นที่ 444 กม. x 720 กม. ส่วนพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาครอบคลุมพื้นที่โรงไฟฟ้าตลอดจนถึงท่าเทียบเรือเช่นกันรวมพื้นที่ 130 กม. x 130 กม. และยังมีพื้นที่ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือขนส่งถ่านหินสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาขนาดพื้นที่ 520 กม. x 520 กม. อีกด้วยโดยระบบคาดการณ์ข้อมูลลมรอบบริเวณพื้นที่โครงการถ่านหินกระบี่ได้นำผลขึ้นแสดงบนเว็บไซต์แล้วแต่ในส่วนพื้นที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อยู่ระหว่างการนำผลขึ้นแสดงบนเว็บไซต์ ซึ่งผลของการคาดการณ์ลมดังกล่าวนอกจากที่ กฟผ. จะพัฒนาเพื่อการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าในอนาคตแล้ว ปัจจุบันประชาชนยังสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ด้วย เช่นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันยังสามารถใช้ข้อมูลเพื่อความปลอดภัยในการท่องเที่ยวทางทะเล ส่วนในพื้นที่เทพาเนื่องจากอำเภอเทพามีผู้ประกอบอาชีพทำการประมงเป็นจำนวนมาก หากชาวบ้านได้รับทราบข้อมูลการคาดการณ์ล่วงหน้าจะเป็นประโยชน์ ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ และด้านความปลอดภัยในการออกทะเล
สำหรับด้านเทคนิคได้เตรียมพัฒนาระบบดังกล่าว ให้สามารถต่อยอดในการคำนวณ การเคลื่อนที่ของกระแสน้ำทะเลระดับความสูงของคลื่น โดยใช้ผลจากการคาดการณ์ข้อมูลลมเป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการคำนวณในแบบจำลองคณิตศาสตร์ทางด้าน Oceanic Model ได้อีกด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ กฟผ. เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพาจะมีกระบวนการขนถ่ายถ่านหินบริเวณท่าเทียบเรือซึ่งยื่นไปในทะเล ดังนั้นความรุนแรงของลมและคลื่นอาจส่งผลกระทบกับการดำเนินงาน หากสามารถคำนวณได้ว่าในวันและช่วงเวลาใดที่คลื่นลมแรงไม่เหมาะกับการขนถ่ายถ่านหินโดยระบบสายพานลำเลียง ก็จะสามารถวางแผนหลีกเลี่ยงการทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ส่วนชุมชนหรือชาวประมงจะได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนา Oceanic Model เช่นกัน หากสามารถรู้ล่วงหน้าว่าวันไหนหรือช่วงเวลาใดที่จะมีคลื่นลมแรงก็สามารถหลีกเลี่ยงการเดินเรือเพื่อความปลอดภัย
“กฟผ. เป็นผู้นำในการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่คำนึงถึงประสิทธิภาพของการดำเนินงานที่ดีที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตไฟฟ้า แต่ยังมีเครื่องมือที่ทันสมัยช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยในอนาคต กฟผ. จะขยายผลระบบคาดการณ์ข้อมูลลมรอบโรงไฟฟ้าไปยังโรงไฟฟ้าทุกแห่ง เพื่อให้ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าและสังคมมั่นใจได้ว่าคุณภาพอากาศรอบโรงไฟฟ้าของ กฟผ. มีความปลอดภัย นอกจากนี้ กฟผ. ยังใส่ใจและเต็มใจที่จะดูแลชุมชนให้อยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าได้อย่างมีความสุข” รวพฟ. กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ระบบคาดการณ์ข้อมูลลมฯ ใช้เครื่องคลัสเตอร์คอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง (High Performance Cluster Computer) ในการคำนวณและคาดการณ์ข้อมูลผ่านแบบจำลอง RAMS หรือ Regional Atmospheric Modeling System โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลระบบการคาดการณ์ลมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้ที่เว็บไซต์ http://tairgle.egat.co.th รวมถึงสามารถดูผ่านมือถือสมาร์ทโฟน ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้เช่นกัน
ข่าวเด่น