ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ผลจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ11 เดือนแรกปีงบฯ 59 จัดเก็บได้ 2.181 ล้านลบ.สูงกว่าปีก่อน 9.1%


 


นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – สิงหาคม2559) จัดเก็บได้ 2,181,687 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 63,779 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.1 โดยสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) 56,273 ล้านบาท นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 10,193 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 การจัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงกว่าประมาณการ 8,936 7,548 และ 6,369 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 8.8 และ 2.2 ตามลำดับ 

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 ที่สูงกว่าประมาณการ 63,779 ล้านบาท ทำให้มั่นใจได้ว่าในปีงบประมาณนี้ รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้อย่างแน่นอน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของฐานะการคลังของประเทศในการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทยต่อไป”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเดือนสิงหาคม 2559และในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – สิงหาคม 2559) 

ในเดือนสิงหาคม 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 208,634 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,181,687 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 63,779 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.1) 
เดือนสิงหาคม 2559   รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 208,634 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 31,228 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.0 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.9) โดยการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าประมาณการ 12,445 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.0 เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 51) ต่ำกว่าประมาณการเป็นสำคัญ การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นต่ำกว่าประมาณการ 12,382 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.8 เนื่องจากมีการนำส่งค่าภาคหลวงปิโตรเลียมรอบไตรมาสในเดือนกรกฎาคม 2559 จากเดิมที่ประมาณการไว้ว่าจะนำส่งเดือนสิงหาคม 2559 สำหรับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการ 8,308 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.6 โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,180 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง

ในช่วง 11 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – สิงหาคม 2559)รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2,181,687 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 63,779 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.1) เนื่องจากมีรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) เป็นสำคัญ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,555,846 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 128,055 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ 

-ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 56,512 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.9) โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 43,924 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.4) เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 12,588 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.0 (แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.6) 

-ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 43,703 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.6  (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 44.6) เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (เหลว) ลดลง ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีกำไรเพื่อชำระภาษีลดลง

-ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 31,139 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.9) เป็นผลจากภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน (ภ.ง.ด. 53) และภาษีจากประมาณการกำไรสุทธิครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (ภ.ง.ด. 51) เป็นสำคัญอย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,369 ล้านบาท 
หรือร้อยละ 2.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.5) โดยภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชนจากเงินเดือน (ภ.ง.ด. 1) และอสังหาริมทรัพย์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากการขยายตัวของฐานเงินเดือนที่สูงกว่าประมาณการและผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 474,768 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,410 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 17.5) โดยภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 8,936 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 39.2) เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซินจากลิตรละ 5.35 และ 6.0 บาท เป็นลิตรละ 5.65 และ 6.30 บาท ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 7,548 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 25.5) เนื่องจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ได้ส่งผลให้รถยนต์บางประเภทมีภาษีสรรพสามิตรถยนต์เฉลี่ยต่อคันเพิ่มขึ้น ส่วนภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,939 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.7) 

 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 103,413 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,887 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.4) เนื่องจากได้รับผลกระทบของการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาทในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 หดตัวร้อยละ 10.7 และร้อยละ 3.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก

บันทึกโดย : วันที่ : 21 ก.ย. 2559 เวลา : 09:55:39

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:37 am