ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
นายกฯกล่าวถ้อยแถลงระบุไทยให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัย


 

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 59 เวลา 18.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ ห้องประชุม UN Trusteeship Council สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ  นครนิวยอร์ก   พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดระดับผู้นำด้านผู้ลี้ภัยของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (President Obama’s Leaders’ Summit on Refugees)   พลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้


 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  วันนี้คนกว่า 65 ล้านต้องพลัดถิ่น ในจำนวนนี้ กว่า 21 ล้านคนเป็นผู้หนีภัยเข้าสู่ยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ กลายเป็นภาระหนักของประเทศแรกรับ ซึ่งไทยก็ตกอยู่ในสภาวะนั้นเช่นกัน  เพราะตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและประชาชนคนไทยมีความเอื้ออารี และให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้หนีภัยจากประเทศเพื่อนบ้านแล้วกว่าล้านคน

 ปัจจุบัน ไทยให้ที่พักพิงแก่ผู้หนีภัยการสู้รบจากชายแดนด้านตะวันตกประมาณหนึ่งแสนคน ไม่นับรวมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอีกกว่าสามล้านคนทั่วประเทศ  ซึ่งไทยยินดีที่ประชาคมโลกได้ร่วมกันรับรองแถลงการณ์นิวยอร์กสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้โยกย้ายถิ่นฐานเมื่อวานนี้

 รัฐบาลไทยออกมาตรการต่างๆ โดยปรับปรุงและบังคับใช้กฎหมาย จัดงบประมาณราว 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือร้อยละ 0.05 ของ GDP สำหรับค่ารักษาพยาบาล การศึกษา และให้ความช่วยเหลือหากเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา ไม่ต่างจากคนไทย

นอกจากนี้ ไทยกำลังพิจารณาจัดทำระบบคัดกรองให้เป็นมาตรฐานสากล เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของ การตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และอนุญาตให้เหยื่อค้ามนุษย์และพยานสามารถทำงานได้อย่างถูกกฎหมายจนกว่าคดีจะสิ้นสุด โดยอาจขยายระยะเวลาทำงานอีกไม่เกินสองปี

รัฐบาลให้การศึกษา และฝึกอาชีพแก่คนในพื้นที่พักพิงฯ เพื่อให้กินดีอยู่ดีเมื่อกลับประเทศ รวมทั้งออกสูติบัตรแก่เด็กผู้หนีภัยทุกคน และกำลังหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งผู้หนีภัยกลุ่มนำร่องที่สมัครใจกลับบ้าน ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข   ไทยกำลังพิจารณาพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย เพื่อไม่ส่งบุคคลกลับไปสู่อันตราย

นายกรัฐมนตรียังกล่าวขอบคุณประธานาธิบดีโอบามา ที่ตระหนักถึงบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหาผู้หนีภัยอย่างเต็มที่ ภายใต้ทรัพยากรและข้อจำกัดของประเทศมาโดยตลอด และเชิญไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

ทั้งนี้ นานาประเทศจะต้องร่วมกันรับผิดชอบแก้ไขปัญหานี้ และควรเปิดพื้นที่เชิงนโยบายให้กับประเทศต้นทาง กลางทาง และปลายทางในการแก้ไขปัญหาภายในบริบทของตนเองประเทศต้นทาง ให้เพิ่มความช่วยเหลือด้านการพัฒนา ซึ่งจะช่วยให้คนไม่ย้ายถิ่น และไม่กดดันประเทศต้นทางมากเกินไป

ประเทศกลางทาง ซึ่งเป็นประเทศแรกรับ ต้องรับภาระอย่างมาก จึงควรมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายในการแก้ไขปัญหา ได้รับความช่วยเหลือทางงบประมาณ นโยบาย และการบังคับใช้กฎหมาย ตลอดจนการดำเนินคดีกับผู้แสวงหาประโยชน์ต่อผู้โยกย้ายถิ่นฐานในทุกรูปแบบอย่างจริงจัง

ประเทศปลายทางก็ต้องเพิ่มความช่วยเหลือด้วย ไทยยินดีที่ประเทศปลายทางประกาศรับผู้ลี้ภัยไปตั้งถิ่นฐานใหม่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ประเทศปลายทางควรสนับสนุนเงินทุน พัฒนาสภาพความเป็นอยู่ และขีดความสามารถ และร่วมกับ UNHCR ในการเร่งรัดกระบวนการการคัดกรองและการส่งต่อให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาความทุกข์ยาก และสามารถย้ายไปยังประเทศที่ 3 ได้โดยเร็วตามที่คาดหวัง ซึ่งยังช่วยลดภาระของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของทุกคน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และขอชื่นชมประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ที่ได้แสดงบทบาทนำด้านการแก้ไขปัญหาผู้ลี้ภัย การรักษาสันติภาพและการส่งเสริมมนุษยธรรมในโลก
 
 
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2559 เวลา : 10:23:39

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:26 am