นายธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงานดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประสบเหตุกรณีเรือโดยสารล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างใกล้ชิด สำหรับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานและครอบครัวที่ประสบเหตุด้วยนั้น ให้อธิบดีแต่ละกรมดูแลบรรเทาทุกข์ในทุกด้าน เพราะถือเป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่มีความขยัน หมั่นเพียร แต่ต้องมาเสียชีวิตในอุบัติเหตุครั้งนี้ด้วย
ในส่วนของผู้ประกันตนให้ดูแลสิทธิประโยชน์ให้ครบถ้วนโดยเร็ว ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 17 ราย แยกเป็น กรณีเสียชีวิต รวม 4 ราย ซึ่งเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ทำงานในสถานประกอบการ) จำนวน 2 ราย ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวน 2 ราย และกรณีบาดเจ็บ จำนวน 13 ราย เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 จำนวน 8 ราย ตามมาตรา 39 (เคยทำงานในสถานประกอบการและออกมาประกอบอาชีพอิสระ) จำนวน 2 ราย และมาตรา 40 จำนวน 2 ราย ซึ่งสำนักงานประกันสังคม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นโดยทันที ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด โดยผู้ประกันตนที่ประสบเหตุในครั้งนี้ถือว่าเป็นการประสบอันตรายไม่เนื่องมาจากการทำงาน ผู้ประกันตนมีสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งกรณีเจ็บป่วย ผู้ประกันตนตาม ม.33 และ ม.39 สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา หากไม่ใช่โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ สำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบภายใน 72 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจะประสานโรงพยาบาลตามบัตรเพื่อรับผิดชอบค่ารักษาต่อไป
ในส่วนของผู้ประกันตนตาม ม.40 ใช้สิทธิการรักษาพยาบาลกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)และผู้ประกันตนจะได้รับสิทธิจากสำนักงานประกันสังคม กรณีหยุดพักรักษาตัวจะได้รับเงินทดแทนขาดการขาดรายได้ วันละ 200 บาท ปีละไม่เกิน 30 วันด้วย สำหรับกรณีเสียชีวิต ผู้ประกันตนตาม ม.33 และ ม.39 ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม ดังนี้ 1) ค่าทำศพ 40,000 บาท 2) เงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต 3) เงินบำเหน็จกรณีชราภาพ และผู้ประกันตนตาม ม.40 ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม โดยเป็นค่าทำศพ จำนวน 20,000 บาท
ข่าวเด่น