เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 เวลา 10.10 น. ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีเปิดการประชุมและกล่าวถ้อยแถลง ในฐานะกลุ่ม 77 และจีน ในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ (High-Level Meeting on Anti-Microbial Resistance (AMR) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีประธานสมัชชาสหประชาชาติเลขาธิการสหประชาชาติ และผู้บริหารระดับสูงขององค์การสหประชาชาติเข้าร่วมด้วย อาทิ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ เป็นต้น พลตรีวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวรู้สึกเป็นเกียรติเป็นตัวแทนกล่าวถ้อยแถลงในนามกลุ่ม 77 และจีน สำหรับการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพในครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งประวัติศาสตร์ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการดื้อยาต้านจุลชีพทั่วโลก และยังเป็นโอกาสกระตุ้นเจตจำนงทางการเมืองในระดับสูงเพื่อสนับสนุนความพยายามเร่งด่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระดับโลกในเรื่องนี้ และเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 5 ประการที่สนับสนุนการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคการสาธารณสุข และภาคสังคม เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพบนพื้นฐานของแนวทางสุขภาพหนึ่งเดียว
ทั้งนี้ การดื้อยาต้านจุลชีพเป็นความท้าทายของมวลมนุษยชาติ และส่งผลกระทบต่อผู้คนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ในขณะที่ขีดความสามารถของประเทศต่างๆ ในการจัดการกับปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแตกต่างกันอย่างมาก ตามระดับการพัฒนาประเทศและศักยภาพของระบบสุขภาพ ดังนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลกระทบอย่างมากหากไม่แก้ไขปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างมีประสิทธิภาพ
กลุ่ม 77 และจีน เน้นประเด็นทั้งหมดนี้ โดยการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัย
การแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพต้องสนับสนุนเป้าหมายต่างๆ ที่ครอบคลุม ดังนี้ (หนึ่ง) ส่งเสริมการสร้างความตระหนักรู้กรณีการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ คน และการเกษตรอย่างเหมาะสม (สอง) เสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงการสร้างหลักประกันการเข้าถึงน้ำสะอาด สุขลักษณะและสุขอนามัย การสร้างภูมิคุ้มกัน และการควบคุมการติดเชื้อทั้งในและนอกสถานพยาบาล (สาม) สร้างความเข้มแข็งให้ระบบสุขภาพและส่งเสริมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(สี่) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนายาต้านจุลชีพ โดยเฉพาะ ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และนวัตกรรม ซึ่งรวมถึง ยาแผนดั้งเดิมและยาสมุนไพร อย่างเร่งด่วน โดยมีหลักประกันว่าต้องเป็นไปตามความจำเป็น มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และรับผิดชอบร่วมกัน โดยยึดหลักราคาสมเหตุสมผล มีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และความเท่าเทียม โดยตัดความเชื่อมโยงระหว่างต้นทุนการวิจัยและพัฒนาจากราคาและปริมาณในการขาย กลุ่ม 77 และจีน ยินดีที่หลักการการตัดความเชื่อมโยงนี้ได้รับการเน้นความสำคัญในปฏิญญาทางการเมือง
(ห้า) สร้างหลักประกันให้ราคายาไม่สูงเกินไปและสามารถเข้าถึงยาปฏิชีวนะ วัคซีน เครื่องมือตรวจวินิจฉัย และเครื่องมือทางการแพทย์อื่นๆ ทั้งที่มีอยู่และแบบใหม่ ซึ่งยินดีต่อผลลัพธ์ของการอภิปรายระดับสูงเรื่องการเข้าถึงยา ซึ่งจัดโดยเลขาธิการสหประชาชาติ
(หก) เสริมสร้างศักยภาพ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ความร่วมมือระหว่างประเทศ และการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาและการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ และการติดตามดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพ เราต้องสนับสนุนการวิจัยระบบสาธารณสุข และการวิจัยและพัฒนา ทั้งประเด็นการใช้ยาปฏิชีวะอย่างสมเหตุสมผล ตลอดจนการคุ้มครองและสร้างหลักประกันในการเข้าถึงยา ทั้งหมดนี้ จะต้องทำโดยคำนึงถึงการมีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม โดยไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ หรือก่อให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังยืนยันการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับโลกอีกครั้งผ่านปฏิญญาทางการเมือง โดยให้คำมั่นที่จะลงมือปฏิบัติในเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศ การระดมกำลังคนและแหล่งเงินทุน การสนับสนุนด้านเทคนิคและด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนาและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติ
โดยเฉพาะให้ความสำคัญในมิติด้านสาธารณสุขในความพยายามประสานงาน และ ความร่วมมือของเราจะต้องก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับคนรุ่นเราและคนรุ่นลูก ทั้งนี้ กลุ่ม 77 และจีน จะรอคอยรายงานที่อ้างถึงในปฏิญญาทางการเมืองเพื่อสานต่อการพิจารณาและการดำเนินงานที่สำคัญในเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ
ในส่วนของประเทศไทยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของไทยได้เห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพฉบับแรกของประเทศ ทั้งนี้ ไทยเน้นการส่งเสริมการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างสมเหตุสมผล การเข้าถึงยาต้านจุลชีพที่จำเป็นในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ปี ๒๕๔๕เป็นหลัก เพื่อให้บรรลุปณิธานทั้งสอง เราได้ริเริ่มสิ่งจูงใจเพื่อให้เกิดหนทางในการลดการใช้ยาต้านจุลชีพในการรักษาบาดแผลถลอก การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน และอาการท้องร่วง
อนึ่ง การบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน ข้อ 3.8 และความพยายามในการแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ เป็นการรวมสรรพกำลังในบริบทของประเทศไทย และอาจเป็นโอกาสเพิ่มเติมให้สามารถเชื่อมโยงระหว่างความพยายามด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจเพื่อต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพ เรายินดีที่จะสานต่อความร่วมมือกับทุกภาคส่วนและมีส่วนร่วมในความพยายามระดับโลกอย่างสร้างสรรค์
ข่าวเด่น