สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และคณะกรรมการธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) จัดเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2559 (Trade and Development Regional Forum 2016) ในวันที่ 21-22 กันยายน 2559 เวลา 8.30-17.00น. ณ ห้องบอลล์รูม โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่ องค์การการค้าโลก (WTO) ให้เกียรติเข้าร่วมการประชุมฯ และนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน
ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) กล่าวว่า “ในฐานะที่ ITD เป็นสถาบันที่จัดตั้งขึ้นโดยความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เพื่อส่งเสริมการค้า การพัฒนา และกิจกรรมอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความความตกลงที่เกิดขึ้น จึงได้เข้าร่วมการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 14 ณ กรุงไนโรบี ประเทศเคนย่า เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ From Decision to Actions: Moving towards an Inclusive and Equitable Global Economic Environment for Trade and Development
นำมาสู่การจัดเวทีการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2559 ภายใต้หัวข้อหลักที่ต่อเนื่องกันคือ ‘การค้าและการลงทุนอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย: เวลาแห่งการปฏิบัติการ’ (Sustainable Trade and Investment in Asia: Time for Actions) เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประเทศสมาชิกในเอเชีย พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในเอเชียต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในประเด็นต่างๆ เช่น การดำเนินงานตามกรอบวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2573 (2030 Agenda for Sustainable Development) การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเผชิญกับผล กระทบจากการก่อภาระหนี้สินเพื่อการพัฒนา การดำเนินงานตามข้อริเริ่มด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทุกคน (eTrade for All Initiative) เป็นต้น ซึ่ง ITD หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมครั้งนี้จะกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้อง และก่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ในอนาคต”
การเสวนาในวันแรกประกอบด้วย 3 หัวข้อ ได้แก่ “การปฏิบัติตามข้อตกลงไนโรบี” ซึ่งกล่าวถึงแนวทางที่ UNCTADง จะสามารถช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้มุ่งไปสู่สภาวะทางเศรษฐกิจที่สมดุลและเป็นธรรมเพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนา “มุมมองระดับภูมิภาค: ปฏิกิริยาของประเทศในเอเชียต่อข้อตกลงไนโรบี” กล่าวถึงแนวทางการส่งเสริมการเติบโตที่เป็นธรรมทั่วถึงทั้งภูมิภาคเอเชียที่มีความหลากหลายของระดับการพัฒนาและนโยบายการพัฒนาประเทศ รวมถึงวิธีการปรับตัวของประเทศต่างๆ ในการพัฒนาการค้า เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของการรวมตัวทางเศรษฐกิจ และ “อภิมหาข้อตกลงทางการค้า: โอกาสหรือภัยคุกคามสำหรับพหุพาคี” ซึ่งกล่าวถึงการพัฒนาทางเลือกในรวมตัวแบบพหุภาคีระดับภูมิภาคขนาดใหญ่และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอันสืบเนื่องมาจากความอ่อนแอของการรวมตัวภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมถึงวิเคราะห์ว่าทางเลือกเหล่านั้นจะนำไปสู่ความเข้มแข็งยิ่งขึ้นของการรวมตัวแบบพหุภาคีหรือจะก่อให้เกิดการแบ่งแยกมากยิ่งขึ้นในระบบการค้าของโลก
นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว “รายงานการค้าและการพัฒนา 2559” (Trade and Development Report 2016) ซึ่งเป็นรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มการค้าและการพัฒนาของโลกที่ UNCTAD จัดทำขึ้นเป็นประจำ
ทุกปี ในปีนี้มีหัวข้อหลัก คือ “การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเพื่อการเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน” (Structural TRansformatio for Inclusive and sustained Growth) โดยมี ดร. ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการ UNCTAD และ Dr. Diana Barrowclough ผู้แทนจาก UNCTAD เป็นผู้ร่วมแถลง
สำหรับหัวข้อการเสวนาในวันสุดท้ายมี 3 หัวข้อ ได้แก่ “แนวโน้มระดับโลกและระดับภูมิภาคด้านการลงทุนและนโยบายที่เกี่ยวข้อง: ผลกระทบที่เป็นไปได้ต่อการปฏิรูปนโยบายการลงทุน” กล่าวถึงการปฏิรูปนโยบายการลงทุนระดับประเทศและระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญในรายงานการลงทุนโลกประจำปี 2016 (World Investment Report 2016) “สัญชาตินักลงทุน: ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้กำหนดนโยบาย” กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นการยากมากขึ้นในการกำหนดสัญชาติของบริษัทข้ามชาติที่มีโครงสร้างความเป็นเจ้าของที่ซับซ้อน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพและความเหมาะสมของนโยบายการลงทุน และ “ความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนเพื่อรับมือความท้าทายในระดับโลก” เป็นการสรุปบทเรียนจากการประชุมทั้งสองวันพร้อมทั้งเน้นย้ำโอกาสในการสร้างความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและการฝึกอบรม รวมถึงระบุแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องปฏิบัติตาม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ข่าวเด่น