ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยยืนยันร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


 


เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 59 เวลา 8.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมกิจกรรมระดับสูงว่าด้วยการมีผลใช้บังคับของความตกลงปารีส (High-level Event on the Entry into Force of the Paris Agreement) ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา


กิจกรรมนี้สืบเนื่องจากประเทศไทยเห็นชอบให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีส ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC) สมัยที่ 21 (COP21) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2558 ณ กรุงปารีส ได้บรรลุความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ โดยประเทศต่าง ๆ ตกลงร่วมกันที่จะมุ่งรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และให้มีความพยายามเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและทำให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำและมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

นายกรัฐมนตรีและผู้นำจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรม อาทิ ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน ประธานาธิบดีฮังการี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีฟิจิ ประธานาธิบดีไนจีเรีย เป็นต้น  นายกรัฐมนตรีประกาศการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ประเทศไทยมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงปารีสในวันที่ 21 กันยายน 2559  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลกที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศ สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ผลกระทบที่เกิดขึ้นยิ่งมีนัยสำคัญและเป็นผลกระทบที่กว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติ กระทบต่อการทำกินและรายได้ของเกษตรกร ก่อให้เกิดความยากจน เป็นภัยต่อความมั่นคงทางอาหาร และท้ายที่สุด เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผลกระทบเหล่านี้ไม่เพียงเป็นภัยต่อโลกปัจจุบัน แต่มีผลถึงลูกหลานของพวกเราในอนาคต

การเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีส เป็นก้าวที่สำคัญยิ่งก้าวหนึ่งของไทย ประเทศไทยเข้าร่วมเพราะตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่จะรักษาโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลาน จึงต้องร่วมมือกันจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิโลก และเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว เป็นการส่งสัญญาณถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และมีความต้านทานต่อสภาพภูมิอากาศ นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศหมู่เกาะ ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด ประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งจีนและสหรัฐฯ ที่ได้แสดงบทบาทนำในการให้สัตยาบันความตกลงปารีส พวกเราจะผ่านภาวะวิกฤตนี้ไปได้ถ้าเราร่วมมือกัน

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และได้ดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และโปร่งใส โดยได้จัดทำ Roadmap เพื่อให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี 2030 ตามที่ได้ประกาศไว้ มุ่งใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน ฟื้นฟูป่าไม้และหยุดยั้งการบุกรุกป่า ลดการขนส่งทางถนนและเปลี่ยนเป็นทางราง เพิ่มการใช้รถยนต์เครื่องยนต์ hybrid ไฟฟ้า และดำเนินการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเน้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการปกป้องธรรมชาติอย่างสมดุล นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้ของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการของทุกประเทศ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกัน โดยคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ ตลอดจนความสำคัญของเงินทุน การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการเสริมสร้างขีดความสามารถด้วยอนาคตของโลกอยู่ในมือเรา  มาร่วมกันรับผิดชอบดูแลโลกใบนี้ เพื่ออนาคตที่ดีและยั่งยืนของอนุชนรุ่นต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2559 เวลา : 08:31:50

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:17 am