นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการไทยขานรับนโยบายใหม่เตรียมลงทุนในกลุ่มวิจัยพัฒนา และไบโอเทคโนโลยี มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง อาทิ การวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า สูตรเครื่องสำอาง วัคซีนป้องกันโรค ยารักษาโรค อาหารสัตว์ชีวภาพซึ่งช่วยลดการใช้ยาเลี้ยงสัตว์
"หลังจากบีโอไอได้เปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการลงทุนมามุ่งเน้นส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ปรากฏว่า มีนักลงทุนไทยและบริษัทคนไทยแสดงความสนใจและยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนหลายราย โดยเฉพาะในด้านการวิจัยและพัฒนา และด้านไบโอเทคโนโลยี รวมทั้งมีแนวโน้มที่บริษัทของคนไทยจะขยายการลงทุนในกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากการเก็บข้อมูลการประชุมให้คำปรึกษากับนักลงทุนไทยพบว่า มีบริษัทคนไทยอีกหลายรายที่จะยื่นขอรับส่งเสริม" เลขาธิการบีโอไอ กล่าว
สำหรับกิจการในกลุ่มวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว และเป็นกิจการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคอุตสาหกรรม อาทิ กิจการวิจัยพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบริษัท วีราออโตโมทีฟ จำกัด เงินลงทุน 5 ล้านบาท และกิจการวิจัยพัฒนารถโดยสารขนาดใหญ่พลังงานไฟฟ้าของบริษัท ไทยยานยนต์ไฟฟ้า จำกัด เงินลงทุน 40 ล้านบาท และกิจการวิจัยพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้ในการหล่อโลหะแบบใหม่ของบริษัท กิสโค จำกัด เงินลงทุน 5.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีกิจการวิจัยพัฒนาในกลุ่มอื่น ได้แก่ กิจการวิจัยพัฒนาสูตรเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด โดยมีลูกค้าเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ กิจการวิจัยพัฒนากระบวนการคัดเลือกและผลิตเมือกหอยทาก เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวของบริษัท สยามสเนล จำกัด เงินลงทุน 22 ล้านบาท กิจการวิจัยพัฒนาในกลุ่มยาก็มีหลายโครงการ อาทิ กิจการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์แบคทีเรียเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไอกรน ของบริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัด เงินลงทุน 1.2 ล้านบาท กิจการวิจัยพัฒนาวัคซีนรวมหรือวัคซีนสูตรผสมที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เช่น วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ของบริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัด เงินลงทุน 2.78 ล้านบาท
ส่วนกิจการในกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน อาทิ กิจการ เทคโนโลยีชีวภาพของบริษัท สยามไบโอซาย จำกัด เพื่อผลิตยาชีววัตถุปลอดเชื้อจากแบคทีเรียและเซลล์สัตว์เพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โรครูมาตอยด์ โรคภูมิแพ้ และโรคสะเก็ดเงิน เงินลงทุน 330 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัท สยามไบโอซาย จำกัด ยังมีกิจการเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อผลิตตัวทำปฏิกิริยาชีวภาพ จากแบคทีเรีย จากเซลล์สัตว์ และสารละลายที่ใช้ในเทคโนโลยีชีวภาพ เงินลงทุน 27 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าตัวทำปฏิกิริยาทางชีวภาพจากต่างประเทศ ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ส่งผลให้ต้นทุนการตรวจวิเคราะห์ทั้งด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมเกษตรลดลง และยังเป็นการพัฒนาบุคลากรของประเทศให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงอีกด้วย กิจการเทคโนโลยีชีวภาพที่บีโอไอให้การส่งเสริมยังมีโครงการในกลุ่มการผลิตอาหารสัตว์ด้วย โดยบริษัท เอส พี เอ็ม อาหารสัตว์ จำกัด ลงทุน 70 ล้านบาท เพื่อวิจัยและพัฒนาการผลิตอาหารสัตว์หมักที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้สามารถสร้างเอนไซม์ที่ย่อยสารอาหารในวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้อยู่ในสภาพพร้อมที่สัตว์สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง และสามารถสร้างสารยังยั้งและควบคุมเชื้อก่อโรคต่างๆ และยังเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ในสภาพที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อสัตว์ด้วย ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพดังกล่าว จะช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์ของวงการปศุสัตว์ในประเทศไทยด้วย และจะส่งผลดีต่อประชาชนผู้บริโภคเนื้อสัตว์
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า ยังมีบริษัทของคนไทยอย่างบริษัท โรงงานเภสัชกรรม เกร๊ทเตอร์ฟาร์ม่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ได้ยกระดับไปสู่กิจการสเตมเซลล์ หรือการเก็บรักษาเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อเจ้าของเซลล์ในอนาคต เงินลงทุน 26 ล้านบาท
"บีโอไอมิได้คาดหวังให้เกิดมูลค่าเงินลงทุนมหาศาลจากกิจการในกลุ่มวิจัยพัฒนา และกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ เพราะประโยชน์ของกิจการเหล่านี้มิได้อยู่ที่เม็ดเงิน แต่อยู่ที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศและสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับการดำเนินชีวิตของประชาชน ทั้งด้านอาหาร ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น และเกือบทุกโครงการก็มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และศูนย์ พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ" นางหิรัญญากล่าว
ข่าวเด่น