ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
สศท.9 แจงพื้นที่เขตความเหมาะสมปลูกข้าว คาบสมุทรสทิงพระ


 


สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 ศึกษาเขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว บนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ระบุ เกษตรกรที่ปลูกข้าวในเขต S1 และ S2 มีผลผลิตเฉลี่ย 716.04 กก./ไร่ รายได้สุทธิ 515.70 บาท/ไร่ ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวในเขต S3 และ N พบว่า มีผลผลิตเฉลี่ย 507.04 กก./ไร่  รายได้สุทธิ -423.31 บาท/ไร่ ย้ำ หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชทางเลือกอื่น ต้องศึกษาพืชทางเลือกใหม่ที่มีลู่ทางการตลาด ดิน และข้อมูลต้นทุนการผลิตอย่างรอบด้าน

นายคมสัน จำรูญพงษ์  รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 (สศท.9) ได้ศึกษาเขตความเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว บนคาบสมุทร       สทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งประกอบด้วยพื้นที่อำเภอระโนด สทิงพระ กระแสสินธุ์ และสิงหนคร เพื่อศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของการปลูกข้าวในพื้นที่ รวมทั้งศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนสำหรับสินค้าเกษตรทางเลือกชนิดอื่นๆ ที่เกษตรกรมีความสนใจเพื่อทดแทนการปลูกข้าวในพื้นที่นาที่ไม่เหมาะสม สำหรับเขตความเหมาะสมการปลูกข้าวของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวบนคาบสมุทรสทิงพระ มีการแบ่งพื้นที่ความเหมาะสมในการการปลูกข้าว ได้เป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย

- เขตพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวมาก (S1) เนื้อที่ 306,145 ไร่ มีการปลูกข้าว 171,395 ไร่  

- เขตพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวปานกลาง (S2) เนื้อที่ 22,985 ไร่ มีการปลูกข้าว 5,672 ไร่

- เขตพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวน้อย (S3) เนื้อที่ 23,100 ไร่ มีการปลูกข้าว 798 ไร่

- เขตพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว (N) เนื้อที่ 387,491 ไร่ มีการปลูกข้าว 2,167 ไร่

สำหรับเกษตรกรที่ปลูกข้าวในเขตที่มีความเหมาะสมมาก (S1) และมีความเหมาะสมปานกลาง (S2) มีผลผลิตเฉลี่ย 716.04 กก./ไร่ ผลตอบแทนเฉลี่ย 4,511.05 บาท/ไร่ ต้นทุนเฉลี่ย 3,995.35 บาท/ไร่ คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 5.58  บาท/กก.   มีรายได้สุทธิ 515.70 บาท/ไร่  ทั้งนี้ การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ ในเขตที่มีความเหมาะสมมาก (S1) และมีความเหมาะสมปานกลาง (S2) ต้องให้ความสำคัญเรื่องการลดต้นทุน รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 
 
 
 
ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวในเขตความเหมาะสมน้อย (S3) และเขตที่ไม่เหมาะสม (N) พบว่า มีผลผลิตเฉลี่ย 507.04 กก./ไร่  ผลตอบแทนเฉลี่ย 3,194.35 บาท/ไร่  ต้นทุนเฉลี่ย 3,617.67 บาท/ไร่ คิดเป็นต้นทุนเฉลี่ย 7.13 บาท/กก. มีรายได้สุทธิ -423.31 บาท/ไร่  อย่างไรก็ตาม การจัดทำแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญในเขตความเหมาะสมน้อย (S3) และเขตไม่เหมาะสม (N) ต้องให้ความสำคัญโดยพิจารณาเป็นกรณี คือ หากเกษตรกรต้องการทำนาต่อไป ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารจัดการดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินใหม่ การตรวจวิเคราะห์ดิน แต่หากเกษตรกรต้องการปลูกพืชทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนการปลูกข้าว เกษตรกรต้องศึกษาพืชทางเลือกใหม่ที่มีลู่ทางการตลาด ดินมีความเหมาะสมกับพืชที่เกษตรกรเลือก รวมทั้งพิจารณาเรื่องข้อมูลต้นทุนการผลิต  และรายได้สุทธิของพืชทางเลือก

ด้านนายพลเชษฐ์  ตราโช  ผู้อำนวยการ สศท.9 กล่าวเสริมว่า จากการศึกษาพืชทางเลือกของเกษตรกรบนคาบสมุทรสทิงพระ พบว่า เกษตรกรได้มีการปลูกพืชทางเลือกที่สำคัญได้แก่ ปาล์มน้ำมัน พืชไร่และพืชผัก โดยผลตอบแทนของเกษตรกรบนคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา พบว่า

ปาล์มน้ำมัน เกษตรกรมีรายได้สุทธิ 5,661.49 บาท/ไร่  พริกเขียวมัน  มีรายได้สุทธิ 26,681.30 บาท/ไร่  คะน้า      มีรายได้สุทธิ 11,935.93 บาท/ไร่  มะระ มีรายได้สุทธิ 10,180.48 บาท/ไร่  บวบ มีรายได้สุทธิ 9,881.61 บาท/ไร่  ถั่วฝักยาว มีรายได้สุทธิ 7,836.49 บาท/ไร่  กล้วยหอมทอง มีรายได้สุทธิ 61,807.47 บาท/ไร่  ดาวเรืองตัดดอก มีรายได้สุทธิ 55,514.57 บาท/ไร่  และหญ้าหวายข้อ มีรายได้สุทธิ 24,119.08 บาท/ไร่

  ทั้งนี้  สศท.9 ยังได้จัดทำแนวทางพัฒนาสินค้า รวม 3 ยุทธศาสตร์ 17 กลยุทธ์ และแนวทางพัฒนาพื้นที่ ขับเคลื่อนโดยอาศัยกระบวนการประชารัฐ คำนึงถึงความต้องการของเกษตรกรเป็นหลัก บนฐานกลไกของอุปสงค์และอุปทาน รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ ทรัพยากรน้ำ องค์ความรู้ แหล่งเงินทุน และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ตลอดจนการร่วมบูรณาการทุกภาคส่วนภายในจังหวัด อันจะสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ให้แก่พื้นที่ต่อไป

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 ก.ย. 2559 เวลา : 14:36:06

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:13 am