น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานอาหารสัตว์ ให้รับซื้อเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ราคาไม่ต่ำกว่าปีก่อน หรือกิโลกรัม (กก.) ละ 8 บาท ที่ความชื้น 14.5% โดยเมื่อทอนเป็นราคาที่เกษตรกรขายแบบฝักจะอยู่ที่ กก.ละ 3.80-4.00 บาท ซึ่งเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ ทั้งนี้ เพื่อช่วยป้องกันปัญหาราคาตกต่ำ และเป็นการรองรับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูกาลผลิตปี 2559/60 ที่กำลังจะทยอยอออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพ.ย.2559 เป็นต้นไป โดยหากเกษตรกรพบว่าโรงงานใดไม่รับซื้อตามราคาที่กำหนด ขอให้แจ้งมายังกรมฯ ซึ่งกรมฯ จะเข้าไปดูแลทันที และหากจำเป็นก็จะนำมาตรการต่างๆ ออกมาใช้ อาทิ การกำหนดราคาแนะนำซื้อ หรือมาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสม
“ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. ปีนี้มีประมาณ 4 ล้านตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว เพราะโรงงานอาหารสัตว์ใช้ปีละประมาณ 7-8 ล้านตัน แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาลดลงในช่วงผลผลิตออกมาก กรม ฯจึงได้ขอความร่วมมือโรงงานรับซื้อไม่ต่ำกว่า กก.ละ 8 บาท ที่ความชื้น 14.5% หากโรงงานใดซื้อราคาต่ำกว่าที่ขอความร่วมมือไว้ให้เกษตรกรแจ้งมาได้ที่กรม ฯ คาดว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นเป็นกก.ละ 9 บาทได้อีก ในช่วงปลายฤดูการผลิต "
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ชะลอการนำเข้าข้าวสาลี ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศในช่วงนี้ออกไปก่อน จนกว่าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะออกสู่ตลาดหมด หรือประมาณช่วงเดือนก.พ.เป็นต้นไป เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
สำหรับการแก้ปัญหาราคามันสำปะหลังตกต่ำ ได้ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการมันสำปะหลังแล้ว ให้รับซื้อหัวมันสดจากเกษตรกรที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดในขณะนี้ ราคา กก.ละ 1.90 บาท ซึ่งผู้ประกอบการโรงงานมันเส้น และเอทานอล รับปากจะให้ความร่วมมือ เพราะราคาส่งออกมันเส้นของไทยดีมาก เมื่อทอนเป็นราคาหัวมันสดแล้ว สามารถรับซื้อได้ที่ กก.ละ 1.90 บาท แต่ขอให้เกษตรกรอย่าเพิ่งเร่งรีบ เพราะจะได้คุณภาพต่ำ และเชื้อแป้งไม่ได้ตามมาตรฐานที่ 25% ซึ่งจะทำให้ราคารับซื้อต่ำลงไปตามเปอร์เซ็นต์ของเชื้อแป้ง
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้อนุมัติมาตรการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยมีเกษตรกรขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 560,000-600,000 ครัวเรือน คาดจะใช้เงินงบประมาณ 1,400 ล้านบาท รวมถึงยังมีมาตรการชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร เพื่อชะลอการขุดหัวมันไว้กัน เพื่อทำให้เกษตรกรมีเงินไปใช้จ่ายในช่วงที่ยังขายผลผลิตไม่ได้ คาดว่าจะนำเสนอให้ครม.เห็นชอบสัปดาห์หน้า
ข่าวเด่น