ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมอนามัยแนะแม่มือใหม่ให้นมลูกอย่างเดียวติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน


 


กรมอนามัย ย้ำ นมแม่ดีที่สุด หนุนแม่มือใหม่ให้นมลูกอย่างเดียวติดต่อกันถึงอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นให้กินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารที่เหมาะสมตามวัยจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ
          
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า นมแม่เป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับลูก เนื่องจากมีสารอาหารกว่า 200 ชนิด ที่มีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโต พัฒนาสมอง จอประสาทตา ทำให้เด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีภูมิต้านทานในการต่อต้านเชื้อโรค และช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ในลูก เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ หอบหืด หูอักเสบ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ภาวะหลับไม่ตื่น (sudden infant death syndrome) โรคอ้วน และเบาหวาน เป็นต้น นอกจากนี้ การให้นมลูกยังทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากแม่และลูกได้สัมผัสกัน ก่อให้เกิดความผูกพัน เกิดพัฒนาการทางด้านสมองและสติปัญญา เกิดความฉลาดทางอารมณ์ และมีบุคลิกภาพที่ดีในอนาคต และการโอบกอด การสบตา พูดคุยของแม่ขณะให้นมลูก ก็จะทำให้แม่และลูกรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข
         
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาสุขภาพแม่และเด็กเป็นรากฐานสำคัญที่สุดในการพัฒนาคนไทยให้มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ เด็กควรได้กินนมแม่อย่างเดียวติดต่อกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน โดยไม่ต้องให้น้ำหรืออาหารอื่น เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่ย่อยง่ายและถูกสร้างมาให้เหมาะสมกับสภาพสภาพร่างกายของทารก ซึ่งระบบการย่อยและดูดซึมอาหารยังพัฒนาไม่เต็มที่มากที่สุด หลังจากทารกอายุครบ 6 เดือน
 
เมื่อระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้วจึงให้เริ่มกินอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำหว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ และสารอาหารอื่นๆ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ขวบ ที่สำคัญไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำอัดลม เนื่องจากมีกรดคาร์บอนิก ซึ่งสามารถกัดกร่อนกระดูกและฟัน ระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะในเด็กทารก ทั้งนี้ ผลวิจัยทั่วโลกพบว่า เด็กที่กินนมแม่จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กิน 5 – 11 จุด แต่จากผลสำรวจอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของไทย ล่าสุดในปี 2555 อยู่ที่ร้อยละ 12.3 ติดอันดับ 1 ในประเทศที่มีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนน้อยที่สุดในเอเชีย สาเหตุสำคัญที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้มีหลายประการ ได้แก่ แม่ต้องกลับไปทำงานก่อน 6 เดือน แม่เชื่อว่าน้ำนมไม่พอ หรือแม่เข้าใจผิดคิดว่านมแม่มีสารอาหารไม่เพียงพอ
        
 "สำหรับแม่วัยทำงาน ปัจจุบันมีเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการบีบเก็บน้ำนม หรือสามารถใช้มือตนเองบีบก็ได้ เริ่มจากการล้างมือให้สะอาด ใช้มือข้างที่ถนัดวางนิ้วหัวแม่มือไว้ด้านบนของเต้านม และนิ้วชี้ด้านตรงข้ามบริเวณขอบนอกของลานนม ห่างจากฐานหัวนมประมาณ 3 เซนติเมตร ไม่ควรวางนิ้วที่บริเวณหัวนมเนื่องจากจะไปกดท่อรูเปิดทำให้น้ำนมไม่ไหล แล้วกดนิ้วมือทั้งสองเข้าที่หน้าอกให้เต้านมบุ๋ม เมื่อบีบนิ้วเข้าหากันจนน้ำนมจะพุ่งออกมา ให้นำขวดแก้วหรือถ้วยรองรับน้ำนม เมื่อน้ำนมไหลให้ผ่อนนิ้วได้ โดยการกดบีบคลายเป็นจังหวะ 1-2 วินาทีต่อครั้ง น้ำนมจะไหลพุ่ง ให้บีบเป็นจังหวะจนกระทั่งน้ำนมน้อยลง จึงค่อยๆ เลื่อนนิ้วทั้งสองไปรอบๆ ลานนมแต่ละเต้าใช้เวลา 15 นาที น้ำนมก็จะเริ่มไหลช้าลง จากนั้นย้ายไปที่เต้านมอีกข้างหนึ่งโดยให้บีบสลับทั้งสองเต้าจนกระทั่งครบ 30 นาที ส่วนการเก็บน้ำนม แม่ควรบีบน้ำนมทิ้งก่อน 3 ครั้ง แล้วจึงใช้ขวดรองเก็บ ซึ่งการเก็บน้ำนมลงในขวดควรเก็บเท่ากับปริมาณที่ลูกต้องการในแต่ละมื้อ เมื่อบีบน้ำนมเสร็จให้ปิดฝาขวดให้มิดชิดทันที ถ้าตั้งไว้โดยไม่ใส่ในตู้เย็นน้ำนมจะอยู่ได้ 6-8 ชั่วโมง ถ้าเก็บในตู้เย็นให้เก็บในส่วนที่เย็นที่สุดคือ ชั้นที่ติดกับชั้นแช่แข็งด้านในสุดจะเก็บได้นาน 2 วัน หากเก็บในช่องแช่แข็งจะเก็บได้นาน 3 เดือน แต่ห้ามเก็บไว้ตรงประตูตู้เย็นเพราะเป็นส่วนที่เปิด-ปิด ทำให้ความเย็นไม่คงที่ แต่ในกรณีที่แม่ไม่มีน้ำนมหรือมีปัญหาเรื่องอาการเจ็บเต้านมหรือหัวนมเป็นแผล แม่และครอบครัวควรเข้ารับคำปรึกษาจากบุคลากรสาธารณสุข แพทย์และพยาบาล หรือในโรงพยาบาลบางแห่งมีคลินิกนมแม่และมิสนมแม่ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ที่จะคอยให้คำแนะนำเพื่อให้แม่สามารถจัดท่าอุ้มลูกดูดนมได้ถูกต้อง ดูดได้ถูกวิธี ดูดบ่อยและดูดนมเกลี้ยงเต้า ซึ่งการอุ้มลูกถูกวิธีและการดูดนมถูกวิธีจะช่วยลดปัญหาการเกิดแผลที่หัวนมหรือเจ็บเต้านม และการดูดบ่อยและดูดเกลี้ยงเต้าจะส่งผลให้น้ำนมคุณแม่ได้รับการกระตุ้นให้ไหลเพิ่มขึ้นจนเพียงพอ” นายแพทย์วชิระ กล่าว
         
 อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า หัวใจสำคัญของคุณแม่หลังคลอด ควรกินอาหารครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และควรเลือกอาหารเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม ซึ่งมีผัก 5 ชนิดเป็นอาหารประเภทหลัก ได้แก่ ยำหัวปลี น้ำขิง ไก่ผัดขิง ผัดกระเพรา ผัดฟักทอง ผัดกุ้ยช่าย เนื่องจากหัวปลีมีธาตุเหล็กมากช่วยบำรุงน้ำนมได้ดี ขิงช่วยขับเหงื่อขับลม ไล่ความเย็น แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ใบกระเพรามีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม บำรุงธาตุ เพิ่มน้ำนม ฟักทองอุดมไปด้วยวิตามินเอ ฟอสฟอรัส เบต้าแคโรทีน และกุ้ยช่ายทั้งต้นและใบช่วยบำรุงน้ำนม
 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ก.ย. 2559 เวลา : 15:45:16

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:41 am