(23 ก.ย. 59) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าวแนวทางการพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์บริเวณป้อมมหากาฬ โดยมี ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายยุทธพันธุ์ มีชัย ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายภัทรุฒม์ ทรรทรานนท์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ดร. โสภณ พรโชคชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย และนายอัครพล รามโกมุท ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกทม.
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ป้อมมหากาฬเป็นพื้นที่อนุรักษ์ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ตั้งแต่ปี 2519 เป็นต้นมา โดยรัฐบาลได้มอบหมายให้กรุงเทพมหานครดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ และได้มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินบริเวณนี้ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เวนคืนเสร็จเรียบร้อยและได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินและเจ้าของอาคาร รวม 102 หลัง โดยที่ดินทั้ง 21 แปลง ตกเป็นของกรุงเทพมหานครเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะตั้งแต่ปี 2537 หลังจากนั้นคนในชุนชนได้ทยอยย้ายออกไปเรื่อยๆ จนถึงปี 2558-2559 มีเหลืออยู่จำนวน 56 หลัง ล่าสุดระหว่างวันที่ 3-4 ก.ย. 59 ชุมชนได้ยินยอมให้กรุงเทพมหานครช่วยรื้อย้าย จำนวน 16 หลัง ปัจจุบันเหลืออีก 38 หลัง ซึ่งในจำนวนนี้หลายบ้านที่พร้อมจะย้ายออก แต่ก็มีบางบ้านที่อยากย้ายแต่ถูกต่อต้านคัดค้านจากบางกลุ่ม ซึ่งกลุ่มที่ยังไม่ยินยอมเจรจาและรื้อย้าย มีจำนวน 7 หลัง
ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้ถูกเป็นจำเลยฟ้องร้องคดีการรื้อย้ายชุมชนมาหลายครั้ง ซึ่งคำพิพากษาแต่ละครั้งก็ยืนยันให้กรุงเทพมหานครดำเนินการตามกฎหมาย ได้แก่ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเห็นว่า ชุมชนที่ฟ้องคดี (ปี 2547) ได้ตกลงทำสัญญาและรับเงินค่าทดแทนไปแล้ว โดยตกลงจะรื้อถอนอาคารสิ่งปลูกสร้างออกไป เมื่อต่อมาเจ้าของไม่ยอมรื้อถอน กรุงเทพมหานครจึงสามารถเข้าดำเนินการรื้อถอนโรงเรือนสิ่งปลูกสร้างตามสัญญา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องชุมชน 30 คน ที่ขอให้ศาล มีคำสั่งเพิกถอนประกาศให้ชุมชนรื้อย้ายและเพิกถอนชุมชนออกจากแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า เนื่องจากผู้ฟ้องคดี 18 คน ไม่ได้เป็นผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายเวนคืน 4 คน เป็นเจ้าของอาคารซึ่งเคยทำสัญญารับเงินและกรรมสิทธิ์ตกเป็นของกรุงเทพมหานครแล้ว ส่วนอีก 8 คนเป็นเพียงผู้อาศัยไม่ใช่เจ้าของ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นต่อกรณี “ชุมชนบ้านไม้โบราณป้อมมหากาฬ” ว่ากรุงเทพมหานครมีพันธะในอันที่จะต้องนำที่ดินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืน จะนำไปให้ชุมชนอยู่อาศัยไม่ได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย และหลักการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ทางสำนักงานผู้ตรวจราชการแผ่นดิน แจ้งว่ากรุงเทพมหานครต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนและขอให้กรุงเทพมหานครดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 18 เม.ย. 2545 ส่วนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มีหนังสือติดตามผลการดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณป้อมมหากาฬ เนื่องจากมีผู้ร้องเรียนว่า กทม. ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยเวนคืนที่ดินแล้วไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
กรณีที่ทางชุมชนยื่นข้อเรียกร้องขอแบ่งปันที่ดิน (Land Sharing) โดยการเช่าที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬ ประมาณ 1 ไร่ เพื่ออยู่อาศัยในลักษณะชุมชนในสวนสาธารณะ โดยมีนักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศตลอดจนสถาบันและองค์การเอกชนในการสนับสนุนและร่วมผลักดันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ประมาณปี 2540 เป็นต้นมา แต่ก็ได้รับการปฏิเสธจากผู้บริหารในระดับรัฐบาลและในระดับท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร) มาโดยตลอดเช่นกัน ดังนั้นการยื่นข้อเรียกร้องข้างต้นต่อผู้บริหารกรุงเทพมหานครชุดนี้ก็เป็นข้อเรียกร้องเดิม แต่อาจมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการปลูกบ้านอยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้เห็นว่าหากจะพิจารณารับฟังข้อเสนอของชุมชนอย่างน้อยจะต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงข้อกฎหมาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงรูปแบบตามวัตถุประสงค์เดิม จึงควรให้หน่วยงานระดับรัฐบาลเป็นผู้พิจารณา ส่วนการจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบภายในพื้นที่ควรได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้มีหน้าที่กำกับดูแลก่อน อีกทั้งรูปแบบของ “ชุมชนกับสวนสาธารณะ” ตามข้อเสนอของชุมชนนั้นยังไม่อาจถือเป็นบทสรุปได้ชัดเจนว่า หากยอมตามข้อเสนอของชุมชนแล้วจะก่อให้เกิดผลดีต่อส่วนรวม
ทั้งนี้ ชุมชนป้อมมหากาฬไม่อาจถือได้ว่าเป็นชุมชนโบราณและหรือมีลักษณะพิเศษเฉพาะของชุมชน ดังเช่นชุมชนโบราณอื่นๆ ประชากรภายในชุมชนก็มิใช่ทายาทหรือผู้เกี่ยวข้องกับเจ้าของที่ดินเดิม ซึ่งสืบต่อเชื้อสายลงมา การพิจารณาข้อเรียกร้องของชุมชนป้อมมหากาฬ จึงต้องเป็นไปด้วยความรอบคอบเพื่อมิให้เกิดเป็นตัวอย่างแก่ชุมชนอื่นๆ อันจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นอย่างมาก นอกจากนี้การให้ชุมชนอาศัยอยู่ในป้อมมหากาฬต่อไป ไม่ว่าจะในรูปแบบการให้เช่าหรือ ให้อาศัยฟรีจะต้องพิจารณาถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายเกี่ยวกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ กฎหมายผังเมือง กฎหมายว่าด้วยเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้หากมีการนำเอาสาธารณะสมบัติของแผ่นดินไปให้เอกชนเช่า ก็จะต้องพิจารณาให้รอบคอบและระมัดระวัง เพราะมิฉะนั้นอาจจะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย
ด้าน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนโดยส่วนร่วมได้ใช้ประโยชน์จากการพัฒนาพื้นที่ประวัติศาสตร์บริเวณป้อมมหากาฬ ให้เป็นสวนสาธารณะที่เป็นสถานที่พักผ่อน ที่หน่วยงาน ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้ อีกทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ และสามารถใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ ของส่วนรวมต่อไปได้ กรุงเทพมหานครยังคงต้องเดินหน้าพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ต่อไป โดยจะเข้าเจรจากับชาวชุมชนขอความร่วมมือจากผู้อาศัยชุมชนป้อมมหากาฬร่วมกันทำในสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองโดยส่วนรวม โดยกรุงเทพมหานครขอความร่วมมือให้รื้อย้ายบ้านอีก 38 หลังที่เหลือ ให้เสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค. นี้ ซึ่งทางชุมชนจะดำเนินการรื้อย้ายเอง และกรุงเทพมหานครยินดีให้ความช่วยเหลือในการขนย้ายทรัพย์สินแก่ผู้ประสงค์ไปยังที่อยู่ใหม่
ด้าน รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นสวนสาธารณะจะเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์บ้านไม้โบราณ จำนวน 4 หลัง ใช้เป็นพื้นที่เรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ มีการจัดกิจกรรมที่แสดงถึงวิถีการดำเนินชีวิตของคนพื้นที่รัตนโกสินทร์ในอดีต มีการบริหารอย่างยั่งยืน เพื่อการเรียนรู้ประวัติศาสตร์เกาะรัตนโกสินทร์ในอดีต ตลอดจนขุดค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่โดยรอบป้อมมหากาฬและแนวกำแพง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับ นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ทั้งนี้กรุงเทพมหานครพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวชุมชนในการรื้อถอนรวมทั้งการขนย้ายไปยังที่แห่งใหม่ จากนั้นจะดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ หารือรูปแบบควบคู่กับการอนุรักษ์ป้อมมหากาฬและกำแพงเมือง เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชน ในโอกาสนี้กรุงเทพมหานครขอขอบคุณชาวชุมชนป้อมมหากาฬที่ให้ความร่วมมือในการรื้อย้าย ร่วมกันเดินหน้าพัฒนาพื้นที่บริเวณป้อมมหากาฬและกำแพงเมือง เพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองโดยส่วนรวมเป็นสำคัญ
ข่าวเด่น