การประชุมหัวหน้าหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 9/2559 เมื่อ 22 ก.ย. 59 ซึ่ง ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ กทม.
ในการประชุมนายวงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย ได้รายงานสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ซึ่งตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 8 ราย โดยในปี 2553 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 6 ราย ปี 2555 จำนวน 1 ราย และปี 2559 จำนวน 1 ราย ในส่วนการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในสัตว์ พบว่ามีสุนัขที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าในปี 2553 จำนวน 106 หัว และลดจำนวนลงมาเรื่อยๆ จนปี 2559 มีจำนวน 12 หัว แสดงว่าแนวโน้มโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสุนัขลดลงเรื่อยๆ สำหรับสถานการณ์ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยนั้น พบว่าในปี 2559 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 8 ราย ในจังหวัดต่างๆ ดังนี้
จ.ฉะเชิงเทรา 2 ราย และใน จ.สระแก้ว จ.ตาก จ.ระยอง จ.สมุทรปราการ จ.ศรีษะเกษ จ.สงขลา และกรุงเทพฯ จังหวัดละ 1 ราย ซึ่งเมื่อพบมีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ สำนักงานสัตวแพทย์และทีมสอบสวนโรคของกองควบคุมโรคและศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย ได้ลงพื้นที่เพื่อหาผู้สัมผัสและกลุ่มเสี่ยง พบมีจำนวน 527 ราย จึงได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มที่มีประวัติการสัมผัสรวมทั้งฉีดวัคซีนในสุนัขและแมวในพื้นที่เสี่ยง จำนวน 350 ตัว เพื่อป้องกันโรคด้วย
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้เพิ่มความเข้มข้นมาตรการควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า โดยให้บริการฉีดวัคซีนที่คลินิกสัตวแพทย์กรุงเทพมหานคร 8 แห่งในวันเวลาราชการ และศูนย์บริการสาธารณสุขในวันศุกร์บ่าย ออกหน่วยเคลื่อนที่ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขหรือแมวในแหล่งชุมชน และรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพมหานครพร้อมกันทั้ง 50 เขต ปีละ 2 ครั้งในเดือน มี.ค. และ ก.ย. ครั้งละ 10 วัน ซึ่งจะต้องรณรงค์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีการสัมผัสโรค
รวมถึงให้บริการวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้าแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ สัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ นักวิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติงานสัมผัสกับไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า บุคลากรทางการแพทย์ที่มีภาระหน้าที่เสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ผู้จำหน่ายสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว กระต่าย หนู หรือผู้ที่ประเมินตนเองแล้วว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคสูง ตามแบบประเมินตนเองเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงต่อการสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า
อีกทั้งดำเนินการผ่าตัดทำหมันทั้งสัตว์มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของเพื่อเป็นการควบคุมโรคและลดจำนวนสุนัขจรจัด โดยสามารถทำหมันสุนัขจรจัดได้ปีละประมาณ 30,000 ตัว ซึ่งหากมีประชาชนแจ้งมีสุนัขจรจัดหรือมีเรื่องร้องเรียนจะมีเจ้าหน้าที่ออกไปจับสุนัขและนำมาไว้ที่ศูนย์พักพิงสุนัขประเวศเพื่อดูแลและรอเจ้าของมารับคืนซึ่งจะดำเนินการฉีดวัคซีนและฝังไมโครชิพเพื่อเป็นการลงทะเบียนก่อนส่งกลับ และหากไม่มีเจ้าของมารับคืนก็จะส่งไปดูแลตามขั้นตอนที่ศูนย์พักพิงสุนัข ที่ อ.ทัพทัน ซึ่งในแต่ละปีมีสุนัขจรจัดมากถึงเกือบหนึ่งหมื่นตัว
ข่าวเด่น