นายแพทย์อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งมีหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 33 ราย และมี 1 รายอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ ที่พบว่าทารกในครรภ์อาจมีโอกาสศีรษะเล็กได้ เนื่องจากแพทย์ได้ทำการอัลตราซาวน์ จนพบว่าอาจมีความผิดปกติ แต่ต้องรอทางสูตินรีแพทย์และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ตรวจวินิจฉัยยืนยันอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม สำหรับหญิงตั้งครรภ์รายดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ที่กรมควบคุมโรคและหน่วยงานในพื้นที่ได้ทำการเฝ้าระวังอยู่แล้ว
ส่วนทารกที่คลอดออกมาและมีศีรษะเล็ก 3 รายที่พบนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่ให้มีการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และให้ดำเนินการเต็มที่ในการค้นหาและตรวจสอบย้อนหลังเด็กที่คลอดออกมาศีรษะเล็กแต่กำเนิด ทั้งนี้ได้มีการติดตามและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันว่าเด็กที่คลอดออกมาศีรษะเล็กเพราะเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ พร้อมทั้งจะนำเรื่องดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ เพื่อพิจารณาถึงกรณีดังกล่าวว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และควรติดตามอย่างไร ต่อไป
นายแพทย์อำนวย กล่าวต่อไปว่า สำหรับกรณีที่ทารกแรกเกิดมีโอกาสเกิดภาวะศีรษะเล็ก นั้น แท้จริงแล้วสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน จากข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเกิดของเด็กมีชีวิตและมีอาการศีรษะเล็ก 4.36 ต่อประชากรแสนคน หรือเฉลี่ยพบได้ 200-300 รายต่อปี ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น 1.การติดเชื้อในกลุ่ม STORCH (Syphilis, Toxoplasmosis, Rubella, Cytomegalovirus, Herpes) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและปรสิตบางชนิดที่สามารถติดเชื้อได้ในคนทั่วไปและมีความสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์หรือทารกแรกเกิด 2.ได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ เช่น สารโลหะหนัก เป็นต้น 3.มีความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด และ 4.ภาวะการขาดสารอาหารอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่าภาวะศีรษะเล็กมีความเชื่อมโยงกับเชื้อไวรัสซิกา แต่อาจจะไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียว อาจมีปัจจัยร่วมอย่างอื่นด้วยที่ทำให้เกิดศีรษะเล็ก ทั้งนี้อยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัย ต่อไป
อัตราการเกิดความผิดปกติของสมองของทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อไวรัส Zika ระหว่างตั้งครรภ์นี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด จากข้อมูลรายงานในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1-29 โดยการเกิดภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด ในทารกแรกเกิดสามารถพบได้ไม่ว่ามารดาจะติดเชื้อไวรัส Zika ในช่วงไตรมาสที่ 1, 2 หรือ 3 โดยพบว่าความเสี่ยงในการเกิด ภาวะศรีษะเล็กแต่กำเนิด ในทารกจะสูงสุดในมารดาที่ติดเชื้อในช่วงไตรมาสที่ 1 รองลงมาคือ ช่วงไตรมาสที่ 2
ส่วนวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันโรคจากยุงลาย คือการลดจำนวนของยุงลายในธรรมชาติให้น้อยลง และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยให้น้อยลง ดังนั้น จึงต้องขอความร่วมมือประชาชนเร่งดำเนินการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ลดลง โดยดำเนินมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น และขอให้ประชาชนเริ่มต้นดำเนินการที่บ้านของตนเองก่อน จากนั้นขยายไปสู่ชุมชน และสถานที่ส่วนรวม เช่น โรงเรียน วัด และสถานที่ทำงาน เป็นต้น
นายแพทย์อำนวย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรค ได้จัดทำคู่มือป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกา สำหรับแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ และร่วมกับราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางปฏิบัติการวินิจัยโรคไวรัสซิกา ว่าต้องมีอะไรบ้าง ในกลุ่มใด โดยเฉพาะกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กที่สงสัยภาวะติดเชื้อไวรัสซิกาแต่กำเนิด ซึ่งเผยแพร่ไปแล้วเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับแพทย์ในการตรวจวินิจฉัย ติดตาม และเฝ้าระวัง ต่อไป
ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุดต่อเนื่อง ส่วนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา นั้น ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการเหล่านี้จะทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
ข่าวเด่น