กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือประชาชนรณรงค์มาตรการ 3 เก็บ 3 โรคอย่างต่อเนื่อง ลดผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก หลังรณรงค์มาตรการ 3 เก็บ 3 โรคในชุมชน และสถานที่ต่างๆ เช่น โรงเรียน วัด โรงงาน และโรงแรม สำนักระบาดวิทยาพบจำนวนผู้ป่วยในปี 59 น้อยกว่าในปี 58 ประมาณ 50%
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การใช้มาตรการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม หรือช่วงก่อนการระบาดของโรคไข้เลือดออกถึงเดือนเมษายน เพื่อกำจัดจำนวนลูกน้ำยุงลาย และยุงลายตัวแก่ โดยประชาชนร่วมมือร่วมใจกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ในบ้าน ด้วยมาตรการ 3 เก็บ 3 โรค ทั้งในบ้าน ในชุมชน เช่น โรงเรียน วัด โรงงาน และโรงแรมทุก 7 วัน อย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ข้อมูลจากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง พบว่าทำให้ ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายมีค่าลดต่ำลง แต่เมื่อเริ่มเข้าฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่ต่างๆได้รับผลกระทบจากฝนตกชุก ทำให้เพิ่มปริมาณภาชนะขังน้ำซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย แต่เมื่อกระตุ้นให้มีการรณรงค์ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ให้มากขึ้น ค่าดัชนีลูกน้ำก็กลับมาลดลง แสดงให้เห็นว่า การรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำนั้น มีความสำคัญมาก เพราะยุงลายเป็นพาหะของ 3 โรค คือโรคไข้เลือดออก ไข้ซิกาและไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนย่า)
ทั้งนี้พบว่ายุงลายสามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ส่วนภาชนะที่พบลูกน้ำบริเวณบ้าน เช่น จานรองกระถาง ยางรถยนต์ .แจกันดอกไม้ ภาชนะที่ไม่ใช้แต่มีน้ำขัง รวมทั้งขยะพวกโฟมขวดน้ำ ถุงพลาสติกจึงต้องมีฝาปิดถังขยะไม่ให้มีน้ำขัง
นอกจากนี้ ผลสำรวจของสำนักระบาดวิทยา พบว่า ผลการรณรงค์มาตรการ 3 เก็บ 3 โรค ทำให้สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกลดต่ำลงกว่าค่าพยากรณ์มาก ซึ่งในปี 59 จำนวนผู้ป่วยจะต้องมากกว่าในปีที่ผ่านมา แต่กลับพบว่าจำนวนผู้ป่วยในปี 59 น้อยกว่าผู้ป่วยในปี 58 ประมาณ 50% และแนวโน้มของโรคเริ่มลดลง อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือประชาชนร่วมมือร่วมใจกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านพักและชุมชนของตนเอง ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขที่จะร่วมกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในชุมชน เพื่อป้องกันทั้งโรคที่มียุงลายเป็นพาหะได้ทั้งโรคไข้เลือดออกไข้ซิกา และไข้ปวดข้อยุงลาย
ข่าวเด่น