กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ความสำคัญของการคุมกำเนิด แก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ส่งผลต่อคุณภาพของเด็ก ทั้งน้ำหนักแรกเกิด พัฒนาการ และไอคิว
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 26 กันยายน ของทุกปีเป็นวันคุมกำเนิดโลกที่จัดตั้งขึ้นจากความร่วมมือขององค์กร NGO ทั่วโลกที่ดูแลเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยได้มีการจัดงานอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในปี 2550 โดยกรมอนามัยร่วมกับกรมสุขภาพจิต สมาคมวางแผนครอบครัว แห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Asia Pacific Council on Contraception (APCOC) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการคุมกำเนิดในวัยเจริญพันธุ์ในระยะที่ยังไม่พร้อม และส่งเสริมอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี ซึ่งจากปี 2526 – 2558 อัตราการเกิดของประชากรไทยลดลง โดยแต่ละครอบครัวมีลูกเฉลี่ยเพียง 1.6 คนเท่านั้น และในปี 2559 คาดว่าอัตราการเกิดของประชากรไทยจะลดลงต่ำกว่า 700,000 คน
นอกจากนี้ เด็กที่เกิดมายังด้อยคุณภาพ มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่า 2,500 กรัม ไม่เจริญเติบโตตามวัย พัฒนาการล่าช้าและสงสัยจะล่าช้าถึงร้อยละ 30 ส่งผลต่อไอคิวของเด็กที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวันรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ในกลุ่มของเด็กอายุ 15 – 19 ปี ใน 1,000 คน จะมีคนที่ตั้งครรภ์อยู่ถึง 44 คน คิดเป็นร้อยละ 16 ต่อการตั้งครรภ์ต่อปี และในจำนวนนี้ยังมีผู้ที่อายุต่ำกว่า 15 ปี รวมอยู่ด้วย การคุมกำเนิดจึงจำเป็นสำหรับวัยเจริญพันธุ์ในระยะที่ไม่พร้อม ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 10 ปีบริบูรณ์ จนถึงก่อน 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันมีการป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ด้วยมาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการลดอัตราการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งจะส่งผลเด็กและเยาวชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 เรื่องที่สำคัญ คือ 1) สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหาและพัฒนาผู้สอนเพศวิถีศึกษา การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2) สถานบริการต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 3) สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4) การจัดสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ 5) ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น
"ทั้งนี้ นโยบายการวางแผนครอบครัวของประเทศไทยในปัจจุบันควรมุ่งเน้นกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนทั้งชายและหญิงควบคู่กันไป การคำนึงถึงความต้องการของกลุ่มที่บริการยังเข้าไม่ถึง เช่น ชุมชนสลัมในเขตเมือง พื้นที่ในเขตชนบท ที่เดินทางลำบาก ชนกลุ่มน้อย แรงงานต่างด้าว เพื่อส่งเสริมการวางแผนครอบครัวและอนามัยการเจริญพันธุ์ มีบริการให้สอดคล้องตรงกับความต้องการของวัยรุ่น ส่งเสริมให้ผู้ชายมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมในการคุมกำเนิด และมีพฤติกรรมที่รับผิดชอบต่อสตรีและครอบครัว เปิดบริการหลายช่องทางเพื่อให้ประชาชนสามารถไปรับบริการได้ทุกแห่ง เช่น การประสานงานกับเอกชน และการจัดตั้งกลุ่มในชุมชนเพื่อให้บริการอนามัยการเจริญพันธุ์ ซึ่งทำให้ประชาชนยอมรับและรู้สึกเป็นเจ้าของ และส่งเสริมคุณภาพการดูแล เมื่อประเทศไทยสัมฤทธิ์ผลในการคุมกำเนิดแล้ว ในการที่จะดำเนินงานส่งเสริมการวางแผนครอบครัวต่อไป จะต้องเน้นถึงการปรับปรุงคุณภาพการดูแล เน้นให้มีวิธีการคุมกำเนิดหลากหลายวิธี เป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเลือกได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ ผู้ให้บริการจะต้องให้ความเอาใจใส่ในการเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดของผู้มารับบริการ ให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถตัดสินใจเลือกใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยตนเองมากกว่าที่จะพยายามให้ผู้รับบริการใช้วิธีคุมกำเนิดที่ผู้ให้บริการเห็นว่ามีประสิทธิภาพมากกว่า” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น