กรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่ยังไม่เอาน้ำเข้าทุ่งหรือแก้มลิงในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เหตุยังมีพื้นที่การเกษตรรอการเก็บเกี่ยว และเตรียมพร้อมไว้รองรับฝนตกหนักในพื้นที่ภาคกลางต้นเดือนตุลาคมนี้
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า กรมชลประทาน ทำไมไม่เอาน้ำที่ไหลหลากในแม่น้ำเจ้าพระยาไปเก็บไว้ในทุ่ง หรือแก้มลิงธรรมชาติในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปล่อยให้น้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ นั้น ขอชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า ปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบันถือว่าเป็นปีน้ำปกติ และมีผลกระทบเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำนอกคันกั้นน้ำ ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ได้มีการปรับตัวดำเนินวิถีชีวิตแบบคนริมน้ำมานานแล้ว
สำหรับกรณีของแก้มลิงหรือทุ่งรับน้ำ นั้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ได้ร้องขอให้กรมชลประทาน ไม่ให้เอาน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงหรือทุ่งรับน้ำในขณะนี้ โดยขอให้รอจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน จึงยินยอมให้เอาน้ำเข้าไปเก็บไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนตุลาคมกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดไว้ว่า จะเกิดฝนตกหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณน้ำท่าจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับพฤติกรรมของแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำจำนวนมาก การใช้แก้มลิงหรือทุ่งต่างๆ รองรับน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่น้ำท่วมได้เป็นอย่างดี แต่หากมีการนำน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงก่อนหน้านี้ เมื่อมีฝนตกหนักปริมาณน้ำท่ามากขึ้น จะส่งผลให้ไม่มีพื้นรองรับน้ำได้อย่างเพียงพอ และจะทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างได้
ทั้งนี้ ขอย้ำว่า กรมชลประทาน จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด ตามศักยภาพของพื้นที่รับน้ำและระบบระบายน้ำที่มีอยู่ โดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ให้น้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กรมชลประทานได้มีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัดต่างๆริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทราบข้อมูลและแนวทางในการจัดการน้ำของกรมชลประทานอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที
ข่าวเด่น