นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กพช. เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ในอัตรา 4.12 บาท/หน่วย
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุม กพช. ครั้งที่ 4/59 เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ FiT สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ในอัตรา FiT 4.12 บาท/หน่วย-อนุมัติให้ ปตท. ซื้อ LNG จากเชลล์-บีพี พร้อมเห็นชอบกำหนดนโยบายนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้งในอัตรา 1 สตางค์/หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือน
วันนี้ (26 กันยายน 2559) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 4/2559 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม ภายหลังการประชุม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และโฆษกกระทรวงพลังงาน ร่วมกันแถลงผลการประชุม กพช. สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุม กพช. เห็นชอบอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ในอัตรา FiT 4.12 บาท/หน่วย ระยะเวลาสนับสนุน 25 ปีขณะที่มี FiT Premium สำหรับโครงการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย และ อ.นาทวี) ตลอดอายุโครงการ 0.50 บาท/หน่วย โดยมอบให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) รับไปดำเนินการออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ FiT รวมทั้งดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเป้าหมายและแผนการรับซื้อไฟฟ้าฯ ดังกล่าว ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้พิจารณาการทบทวนต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ FiT พบว่า ในปัจจุบันมีการปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาแผงเซลล์แสงอาทิตย์และค่าอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวลดลง ดังนั้น เพื่อให้อัตรารับซื้อไฟฟ้าสอดคล้องต้นทุนที่แท้จริง ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เกิดความเป็นธรรมทั้งต่อผู้ประกอบการและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ที่ประชุม กพช. จึงได้ให้ความเห็นชอบทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบ FiT ดังกล่าว
พร้อมกันนี้ กพช. ได้พิจารณาเรื่องการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งมีสาระสำคัญคือ จากการขอขยายระยะเวลาในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จากเดิมที่กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 2 สิงหาคม 2559 และได้ขอขยายระยะเวลามา 2 ครั้ง โดยจะครบกำหนดขยายระยะเวลาครั้งที่ 2 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2559 ส่งผลให้การดำเนินงานเตรียมการเพื่อเปิดประมูลแข่งขันยื่นข้อเสนอเป็นการทั่วไปและคัดเลือกผู้ดำเนินการก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุ ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ทันภายใน 1 ปี ตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 ดังนั้น ที่ประชุม กพช. จึงได้เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานขยายระยะเวลาในการคัดเลือกผู้ดำเนินการ โดยการเปิดประมูลแข่งขันยื่นข้อเสนอเป็นการทั่วไป ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2560
ที่ประชุม กพช. ยังได้รับทราบผลการเจรจาล่าสุดในการปรับลดราคาและทบทวนเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในร่างสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว (LNG SPA) ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กับบริษัท SHELL EASTERN TRADING (PTE) LTD และบริษัท BP SINGAPORE PTE. LIMITED ในปริมาณรายละ 1 ล้านตันต่อปี (รวม 2 ล้านตันต่อปี) ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยคิดเป็นมูลค่าที่ปรับลดลงตลอดอายุสัญญา รวมกันทั้งสองสัญญาประมาณ 115,000 ล้านบาท และอนุมัติให้ ปตท. สามารถลงนามในสัญญาซื้อขาย LNG SPA ภายหลังจากเงื่อนไขที่มีการเปลี่ยนแปลงในร่างสัญญาฯ ที่จะต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด และการนำเสนอ ครม. ตามขั้นตอนเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว
นอกจากนี้ ในเรื่องการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำหรับผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้ง ที่ประชุม กพช. เห็นชอบการกำหนดนโยบายการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้งในอัตรา 1 สตางค์/หน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละเดือน เช่นเดียวกับพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากลมร้อนทิ้งถือว่าเป็นการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงอยู่ในข่ายที่ต้องนำเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าเช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบอื่นๆ เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าต่อไป
ข่าวเด่น