กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวตระหนักถึงความปลอดภัยด้านอาหาร ช่วยกันคัดแยกและลดปริมาณขยะ พร้อมรักษาความสะอาดส้วม เพื่อสร้างสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่ดี
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ได้ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินงานโครงการถนนอาหารปลอดภัย และตลาดสดน่าซื้อเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว วิถีไทย พร้อมทั้งพัฒนาสถานประกอบการด้านอาหารให้ได้มาตรฐาน ลดความเสี่ยงในการบริโภคอาหารของประชาชนและนักท่องเที่ยว ปัจจุบันมีถนนอาหารปลอดภัย และตลาดสดน่าซื้อ ใน 73 จังหวัดๆ ละ 1-2 แห่ง รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนผู้บริโภค และนักท่องเที่ยว เลือกซื้อและบริโภคอาหารจากสถานประกอบการที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากหน่วยงานรัฐ เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลางและล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งทั้งก่อนบริโภคอาหารและหลังเข้าส้วม
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เป็นปัญหาของสถานที่ท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือ มีปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามจำนวนนักท่องเที่ยวและการเพิ่มขึ้นของที่พัก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท บังกะโล รวมถึงตลาดน้ำ หรือร้านอาหาร จากข้อมูลกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สรุปอุทยานแห่งชาติ 5 อันดับแรก ที่มีปริมาณขยะสะสมในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2558 ถึง 3 มกราคม 2559 ได้แก่ ดอยอินทนนท์ มีขยะสะสมสูงสุด 70,341 กิโลกรัม รองลงมาคือเขาใหญ่ 24,480 กิโลกรัม หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี 8,320 กิโลกรัม เอราวัณ 8,000 กิโลกรัม และภูกระดึง 3,171 กิโลกรัม ตามลำดับ รวมปริมาณขยะทั้งหมด 114,312 กิโลกรัม
"ข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ในปี 2552-2555 สามารถเก็บขยะในทะเลได้สูงถึง 216,691 ชิ้น ขยะที่พบส่วนใหญ่ อาทิ ถุงพลาสติก กระดาษ ใบปลิว ขวดแก้ว หลอดดูดน้ำ ถ้วย จาน ก้นกรองบุหรี่ เป็นต้น ก่อให้เกิดมลพิษต่อแหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดทราย แนวปะการัง เป็นต้น ขยะบางประเภท หากถูกทิ้งในป่า หรือทิ้งลงในทะเล สามารถสะสมความเป็นพิษในสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร เช่น โฟมบรรจุอาหาร เชือก แห อวน เมื่อสัตว์กินเข้าไป ทำให้สัตว์เคลื่อนไหวไม่ได้และตายในที่สุด ประชาชนจึงควรแยกขยะก่อนทิ้งลงถังขยะ ไม่ใช้กล่องโฟมใส่อาหาร ใช้ภาชนะที่ย่อยสลายง่าย ไม่นำสิ่งของที่ก่อให้เกิดขยะเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว ไม่ก่อไฟเผาขยะในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว เพราะจะทำให้เกิดมลพิษ และเกิดไฟไหม้ อีกทั้งช่วยกันดูแลรักษาสภาพแวดล้อม และช่วยกันตักเตือนผู้ที่ทิ้งขยะไม่ถูกลักษณะ” นายแพทย์ดนัย กล่าว
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาส้วมสาธารณะในแหล่งท่องเที่ยว ขณะนี้พบว่า ผ่านมาตรฐาน HAS ร้อยละ 74จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการ และผู้ดูแลแหล่งท่องเที่ยวใส่ใจด้านความสะอาดของส้วมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการทำความสะอาดแหล่งปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ ที่จับสายฉีดชำระ ซึ่งตรวจพบเชื้อโรคมากที่สุดคือร้อยละ 85บริเวณพื้นห้องส้วมพบร้อยละ 50 ที่รองนั่งโถส้วมพบร้อยละ 31 ที่กดโถส้วมและโถปัสสาวะพบร้อยละ 8 ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือพบร้อยละ 7 กลอนประตูหรือลูกบิดพบร้อยละ 3 พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ส้วมให้กับนักท่องเที่ยว โดยต้องไม่ขึ้นไปเหยียบบนโถส้วมแบบนั่งราบ ไม่ทิ้งวัสดุลงโถส้วม ราดน้ำหรือกดชักโครกทุกครั้ง หลังการใช้ส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังการใช้ส้วม
ข่าวเด่น