กสอ. ชี้ธุรกิจยุคใหม่ผู้ประกอบการต้องสู้เป็นทีม พร้อมโชว์ตัวเลขการขยายตัว 17 กลุ่มคลัสเตอร์ปี 59 โตกว่า 2 พันล้าน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สนองนโยบายภาครัฐในการส่งเสริม SMEs ด้วยการรวมกลุ่มในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็งและเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเผยผลการดำเนินงานของกลุ่มตัวอย่าง 17 คลัสเตอร์ ใน 18 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเซรามิก และอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยผลการดำเนินงานทำให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการในปี 2559 มีรายได้รวมสูงถึง 2,071.20 ล้านบาท และลดต้นทุนในการผลิตได้ 109.48 ล้านบาท
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจ ล้วนนำรูปแบบคลัสเตอร์มาเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจแทบทั้งสิ้น ซึ่งการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์นั้นถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของ SMEs ให้เพิ่มสูงขึ้น เริ่มตั้งแต่การพัฒนากิจกรรมระหว่างกันในภาคอุตสาหกรรม การถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ทำให้ธุรกิจเกิดการปรับปรุงทั้งประสิทธิภาพการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ รวมทั้งการผสมผสานแนวคิดและการมีส่วนร่วมเพื่อปรับเปลี่ยนการดำเนินงานจากการแข่งขันเพียงเพื่อความอยู่รอดของแต่ละบุคคลมาเป็นพันธมิตรร่วมคิดและร่วมทำ ซึ่งจะช่วยให้ขีดความสามารถของผู้ประกอบการมีความเข้มแข็ง และนำไปสู่การแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน
นางอนงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจ SMEs ในประเทศไทย พบว่ายังประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจในหลาย ๆ ด้าน กสอ. จึงเร่งดำเนินนโยบายเพื่อยกระดับ SMEs ให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านต่าง ๆ รวมถึงการผลักดันการรวมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการปรับแนวคิดจากเดิมที่ต่างคนต่างทำ มาเป็นการสร้างความร่วมมือที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในแบบหมู่คณะ และนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศ ส่งผลให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ กสอ. ถือเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวมากว่า 10 ปี โดยในปี 2559 สามารถพัฒนาการรวมกลุ่มได้ 17 กลุ่มคลัสเตอร์ ในพื้นที่ 18 จังหวัด ประกอบด้วย สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น
อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเซรามิก และอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยผลของการรวมกลุ่มดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการในเครือข่ายกว่า 2 พันรายที่เข้าร่วมโครงการ มีรายได้รวมสูงถึง 2,071.20 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนในการผลิตได้ 109.48 ล้านบาท และเกิดโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด อาทิ การร่วมกิจกรรมออกงานแสดงและจำหน่ายสินค้า ซึ่งผู้บริโภคได้ให้การตอบรับผลิตภัณฑ์มากขึ้น มีการพัฒนาและการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี กลุ่มธุรกิจ SMEs ในประเทศไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น และต้องไม่ใช่เพียงแค่รวมกลุ่มระหว่างผู้ผลิตด้วยกันเองเท่านั้น ยังรวมถึงบุคลากรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมทั้งภาครัฐและเอกชน โดยต้องมีการสร้างความร่วมมือ การประสานงานซึ่งกันและกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ทั้งยังต้องเร่งให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงการเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวประกอบกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแต่ละกิจการ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์นั้น ๆ ซึ่งผลที่ได้สามารถต่อยอดนำไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาคลัสเตอร์ในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ในอนาคตต่อไป นางอนงค์ กล่าวปิดท้าย
ด้านนายเฉลิมพล อิ่มจิต ผู้ประกอบการและสมาชิกในคลัสเตอร์ข้าวและข้าวแปรรูป ให้ความคิดเห็นว่า การดำเนินงานภายใต้คลัสเตอร์ข้าวและข้าวแปรรูป ประกอบด้วยพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ และอุตรดิตถ์ กิจกรรมการดำเนินงานภายในกลุ่มมีทั้งการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ การสร้างพื้นที่สื่อออนไลน์เพื่อคอยรายงานความเคลื่อนไหวของสมาชิก รวมทั้งการส่งนักวิจัยเข้าไปศึกษาดูงานในแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมทั้งรวบรวมปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มแล้วนำมาขยายผลและแก้ไข เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้น สำหรับจุดเด่นของคลัสเตอร์นี้ คือ มีการสื่อสาร และแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ระหว่างกันอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางออนไลน์ สมาชิกทุกคนมีภาวะความเป็นผู้นำ มีการช่วยเหลือกันระหว่างผู้ประกอบการอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะความร่วมมือด้านการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวจนเป็นที่ยอมรับ โดดเด่นและเป็นที่นิยมคือ พันธุ์หอมนิลสุโขทัย พร้อมกันนี้ยังดำเนินการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างและพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่ ๆที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นและเร่งการเก็บเกี่ยวได้ภายใน 70 วัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นในด้านผลิตภาพ การลดต้นทุน พร้อมส่งต่ออรรถประโยชน์ที่ดีดังกล่าวไปยังอุตสาหกรรมในขั้นตอนอื่น ๆ ได้ต่อไป
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทร. 0 2202 4538 , 0 2202 4575 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th
ข่าวเด่น