กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าพัฒนาระบบการขออนุญาตนำกากที่ไม่ใช้แล้วออกนอกโรงงาน (สก.2) เพื่อยกระดับการอนุญาตกากอุตสาหกรรมโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลในคำขออนุญาตพิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่และแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการทราบผลได้ทันทีภายใน 3 นาที จากเดิมการพิจารณาอนุญาตใช้เวลา 10 – 30 วัน โดยร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ AUTO e-License” ระหว่างกรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. เตรียมผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่มาตรฐานบำบัดและกำจัดกากของเสียผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้พัฒนาระบบการอนุญาตกากอุตสาหกรรมในรูปแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-License) เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ และอำนวยความสะดวกโดยเพิ่มช่องทางให้ผู้ประกอบกิจการสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านระบบ Internet โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: AI) เป็นผู้วิเคราะห์ข้อมูลในคำขออนุญาตและแจ้งผลให้กับผู้ประกอบการได้ทราบในเวลาทันที ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นการสานงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็น Digital Government ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะพัฒนาองค์กรเข้าสู่ Industry 4.0 และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะได้พัฒนาองค์กรเข้าสู่ DIW 4.0 เช่นเดียวกัน ตลอดจนเพื่อให้กากเข้าสู่ระบบตามแผนยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรม พ.ศ.2558 – 2562 ที่จะต้องดำเนินการให้กากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90% ภายใน 5 ปี
ด้าน นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้จับมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำโครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Auto e-License ซึ่งเป็นโครงการนำร่องการพิจารณาอนุญาตโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วการให้บริการตามนโยบายของรัฐบาล โดยทั่วไปมีระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตประมาณ 10 – 30 วัน แต่ระบบปัญญาประดิษฐ์จะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตแทนเจ้าหน้าที่โดยจะดำเนินการให้เหลือเพียงไม่เกิน 3 นาที ซึ่งระบบนี้จะรองรับเฉพาะการขออนุญาต สก.2 ที่ยื่นผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น โดยผู้ประกอบการเพียง ยื่นขออนุญาต สก.2 ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หลังจากนั้นระบบฯ ตรวจสอบข้อมูลทุกรายการในคำขอที่ยื่นขออนุญาต กับข้อมูลสารสนเทศที่มีในระบบ หลังจากนั้นเมื่อระบบประมวลผล ระบบฯ จะพิจารณาอนุญาตตามเงื่อนไขโดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ การดำเนินงานพิจารณาอนุญาต สก.2 รูปแบบใหม่ถือเป็นการพิจารณาอนุญาตโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างแท้จริง หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จจะทำให้การพิจารณาอนุญาต สก.2 เกิดความรวดเร็ว ชัดเจน เป็นมาตรฐานหนึ่งเดียว และเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ผู้พิจารณาอนุญาตและผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้รับบำบัด/กำจัด ซึ่งจากสถิติปี 2557 - 2558 การพิจารณาการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยเจ้าหน้าที่มีจำนวนคำขอรวมประมาณ 80,000 คำขอ มีรายการกากอุตสาหกรรมที่ต้องพิจารณารวมประมาณ 500,000 รายการ ทำให้คำขอของโรงงานผู้ก่อกำเนิดหลายรายใช้เวลาพิจารณานานมากกว่า 3 เดือน
ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในโครงการนำร่องการอนุญาตนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำร่องนำบริษัทผู้รับบำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรม จำนวน 9 ราย รวมทั้งสิ้น 13 บริษัท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการชั้นดี ที่สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยตั้งเป้าหมายให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถปฏิบัติตามกรอบของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้อย่างมีประสิทธิผลอันจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับผู้ประกอบการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารการจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2354 3183 หรือเข้าไปที่ www.diw.go.th
ข่าวเด่น