กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาห้องปฏิบัติการเลี้ยงเซล์ของศูนย์มะเร็งโฮลิสติค โรงพยาบาลไทยนครินทร์ให้ได้มาตรฐานสากล ส่งผลดีต่อผู้ป่วยมะเร็งที่จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย
นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาห้องปฏิบัติการเลี้ยงเซลล์ กับ ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ชัยพร ภัทราคม ผู้อำนวยการแพทย์ โรงพยาบาลไทยนครินทร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาทางห้องปฏิบัติการเลี้ยงเซลล์(NK cell ex-vivo expansion) ของศูนย์มะเร็ง โฮลิสติค โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (เมื่อ 26 ก.ย. 59)เพื่อให้ได้มาตรฐานเช่นเดียวกับห้องปฏิบัติการเลี้ยงเซลล์ (DMSc Plus/Pro) ของศูนย์เซลล์ต้นกำเนิด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและมี ความปลอดภัย โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งนี้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการพัฒนาขีดสมรรถนะและความทันสมัยของการให้บริการตรวจทางห้องปฎิบัติการ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาทางการแพทย์และสาธารณสุข และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของโรงพยาบาลไทยนครินทร์ ที่ต้องการให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ มาตรฐานระดับสากล
นายแพทย์อภิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิดนับเป็นหนึ่งในสาขาที่มีความก้าวหน้าที่สุดทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดในการสร้างเซลล์ทดแทนตนเอง โดยคงสภาพความเป็นเซลล์ต้นกำเนิดและสามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์จำเพาะชนิดต่างๆ ได้ในสภาวะที่เหมาะสม นำไปสู่ความหวังที่จะนำเซลล์ต้นกำเนิดมาใช้ประโยชน์ในการรักษาหรือซ่อมแซมเนื้อเยื่อและอวัยวะที่ผิดปกติจากการเป็นโรค ความเสื่อม ความสูงอายุหรือจากสาเหตุอื่นๆ จากแนวโน้มความสำคัญของเซลล์ต้นกำเนิด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้ดำเนินการวิจัยด้านเซลล์ต้นกำเนิด มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 โดยมีวัตถุประสงค์ในการวิจัยและพัฒนางานด้านเซลล์ต้นกำเนิดอย่างครบวงจร นับตั้งแต่การจัดเตรียมและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิด การตรวจสอบคุณภาพของเซลล์ต้นกำเนิด และการนำเซลล์ต้นกำเนิดไปใช้ในการศึกษาวิจัยทางคลินิก โดยได้จัดตั้งอาคารปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิด ซึ่งมีความพร้อมในการจัดเตรียมและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practice: GMP) ตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังได้มีการนำเซลล์ไปศึกษาวิจัยทางคลินิกร่วมกับสถาบันอื่นๆ เช่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นต้น การดำเนินการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงเป็นแม่แบบในการเพาะเลี้ยงเซลล์ที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับนานาชาติหรือระดับสากล
ปัจจุบันศูนย์เซลล์ต้นกำเนิดและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม ได้รับการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO 15189:2003 ใน 2 รายการทดสอบคือ การตรวจหาปริมาณ Endotoxin โดยวิธี Limulus Amebocyte Lysate (LAL) แบบ Kinetic Turbidimetric Method และการตรวจวิเคราะห์ชนิดและปริมาณเซลล์ต้นกำเนิดชนิด Mesenchymal Stem cell โดยเทคนิค Flow cytometry และพร้อมให้บริการด้านการตรวจสอบคุณภาพ และการตรวจสอบคุณลักษณะของเซลล์ต้นกำเนิด 5 รายการทดสอบ ได้แก่ 1.การตรวจหาปริมาณ Endotoxin โดยวิธี Limulus Amebocyte Lysate (LAL) แบบ Kinetic Turbidimetric Method 2.การตรวจวิเคราะห์ชนิดและปริมาณเซลล์ต้นกำเนิดชนิด Mesenchymal Stem cell โดยเทคนิค Flow cytometry 3.การทดสอบ Sterility 4.การตรวจสอบการปนเปื้อน Mycoplasma โดยวิธี Polymerase Chain Reaction (PCR) 5.การทดสอบความสามารถของ Mesenchymal Stem cell ในการเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์เนื้อเยื่อไขมัน เวลล์กระดุก และกระดูกอ่อน (Trilineage Differentiation)
“การดำเนินงานด้านเซลล์ต้นกำเนิดนับเป็นอีกหนึ่งภารกิจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการนำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งเราหวังว่าในอนาคตวงการแพทย์ไทยจะสามารถพัฒนาศักยภาพและ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ที่สำคัญคือ นโยบายของรัฐบาล Medical Hub ซึ่งจะผลักดันให้มีการพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศให้เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการรักษาพยาบาล” นายแพทย์อภิชัยกล่าว
ข่าวเด่น