ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
พาณิชย์ปลื้มยอดจำหน่ายสินค้า GI ในการจัดงาน 'GI Market 2016' ทะลุเป้า


 


พาณิชย์ ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและปัญญาและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ปลื้มยอดจำหน่ายสินค้า GI ในการจัดงาน “GI Market 2016” ทะลุเป้า

กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขานรับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 เน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและปัญญา ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชนและประเทศ หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ล่าสุดสร้างช่องทางการตลาดโดยจัด   งาน GI Market 2016 ซึ่งได้รับกระแสตอบที่ดียิ่ง พร้อมวางแผนนำสินค้า 3 รายการ ทะเบียน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ไปจดทะเบียนที่ประเทศจีน พร้อมเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีศักยภาพเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI อย่างน้อย 1 สินค้าต่อ 1 จังหวัด ตั้งเป้าหมายให้ครบ 77 จังหวัด ภายในปี 2560

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายกรมทรัพย์สินทางปัญญาผลักดันโครงการส่งเสริมหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อเป็นการส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีศักยภาพเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI อย่างน้อย 1 สินค้าต่อ 1 จังหวัด โดยตั้งเป้าหมายให้ครบ       77 จังหวัด ภายในปี 2560 ซึ่งจนถึงขณะนี้ มี 50 จังหวัด ที่ขึ้นทะเบียนสินค้า GI แล้ว และกำลังจะดำเนินการส่งเสริมสินค้าชุมชนในอีก 8 จังหวัด ภายในปี 2559 ได้แก่ ลำไยลำพูน (จังหวัดลำพูน) กล้วยไข่กำแพงเพชร (จังหวัดกำแพงเพชร) น้ำตาลสดเกยชัยและเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ (จังหวัดนครสวรรค์) ไข่เค็มดินสอพองลพบุรี ดินสอพองลพบุรี (จังหวัดลพบุรี) มังคุดเขาคีรีวง (จังหวัดนครศรีธรรมราช) ผ้าหมักโคลนบ้านหนองสูง (จังหวัดมุกดาหาร) ข้าวโพดเทียนบ้านเกาะ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และชมพู่คลองหาด แคนตาลูปสระแก้ว (จังหวัดสระแก้ว)

นอกจากนี้มีสินค้า GI ไทยยื่นจดทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 6 สินค้า โดยได้รับจดทะเบียนในสหภาพยุโรปแล้ว จำนวน 3 รายการ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยช้าง และกาแฟดอยตุง สำหรับข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการยุโรป ผ้าไหมยกดอกลำพูนได้รับการ          จดทะเบียนแล้วในประเทศอินโดนีเซียและอยู่ระหว่างการตรวจสอบคำขอของประเทศอินเดีย ส่วนเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานได้รับจดทะเบียนแล้วที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งการที่สินค้า GI ของไทยได้รับขึ้นทะเบียนในสหภาพยุโรปนั้นถือว่าสินค้าได้รับการยอมรับว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะ โดดเด่น แตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันจากแหล่งผลิตอื่นๆ ในโลกตามมาตรฐานที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ และยิ่งไปกว่านั้น “ชื่อของสินค้า” ที่ได้รับขึ้นทะเบียนจะได้รับการปกป้องคุ้มครองทั่วทั้งสหภาพยุโรปตามกฎหมาย อันจะทำให้สินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตในแหล่งอื่นจะไม่สามารถใช้ชื่อสินค้า GI ของไทยดังกล่าวได้ ทั้งนี้ กรมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมสินค้า GI ให้ได้รับความคุ้มครองในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดการค้าใหญ่ที่สำคัญ และมีแผนที่จะนำสินค้า GI ไทยไปจดทะเบียน ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ซึ่งทั้ง       3 สินค้าเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผลการจัดงาน GI Market 2016 ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 – 21 กันยายน2559 ณ Work & Play ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แกรนด์ พระราม 9 เพื่อให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการในท้องถิ่นสามารถขยายช่องทางการตลาดและสร้างรายได้ให้กับสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย นอกจากนี้ยังสามารถนำตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นอันเป็นแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ และเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักและเลือกซื้อสินค้า GI ที่หลากหลายจากแหล่งต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทั้งนี้ สินค้า GI ที่ได้รับความสนใจจากผู้บริโภคเป็นอย่างมากในการจัดงานครั้งนี้ คือ ผ้าไหมยกดอกลำพูน (จังหวัดลำพูน) ที่มียอดขายสูงสุด อีกทั้งยังมี ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี (จังหวัดสกลนคร) ทุเรียนป่าละอู (จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ที่ได้รับความนิยมอีกด้วย

 

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2559 เวลา : 15:32:27

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:34 am