ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
กรมชลฯย้ำสถานการณ์น้ำในเจ้าพระยายังคุมได้-ใช้ปตร.คลองลัดโพธิ์ฯเร่งระบายสู่อ่าวไทย


 



นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศว่า ล่าสุด (27 ก.ย. 59) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 42,799 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 19,273 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 27,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ) มีน้ำไหลลงอ่างฯอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน(27 ก.ย 59) มีปริมาณน้ำรวมกัน 14,274  ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 7,578 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้ง 4 เขื่อนยังรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 10,500 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีปริมาณน้ำค่อนข้างมากในขณะนี้ และยังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีก เนื่องจากยังคงมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคกลาง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์จำนวนมาก ล่าสุด(27 ก.ย. 59) มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่อ.เมืองนครสวรรค์(สถานีC.2)ในเกณฑ์ 1,779 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,790 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีน้ำท่วมเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ รวมไปถึงที่ลุ่มต่ำริมคลองโผงเผง คลองบางบาล และพื้นที่ลุ่มต่ำในเขต    อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา กรมชลประทาน ได้ใช้ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นเครื่องมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยย่นระยะทางการไหลของน้ำจาก 18 กิโลเมตร เหลือเพียง 600 เมตร ทำให้สามารถระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยได้เร็วมากขึ้น ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ตอนบนได้เป็นอย่างดี

สำหรับกรณีของแก้มลิงหรือทุ่งรับน้ำ นั้น เนื่องจากปัจจุบันยังมีเกษตรกรบางส่วนที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ได้ร้องขอให้กรมชลประทาน ไม่ให้เอาน้ำเข้าพื้นที่แก้มลิงหรือทุ่งรับน้ำในขณะนี้ โดยขอให้รอจนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน จึงยินยอมให้เอาน้ำเข้าไปเก็บไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นเดือนตุลาคมกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดไว้ว่า จะเกิดฝนตกหนักอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณน้ำท่าจำนวนมากไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบกับพฤติกรรมของแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงเดือนตุลาคม จะเป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำจำนวนมาก การใช้แก้มลิงหรือทุ่งต่างๆ รองรับน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว จึงเหมาะสมที่สุด เพราะจะช่วยลดผลกระทบต่อพื้นที่น้ำท่วมได้เป็นอย่างดี แต่หากมีการนำน้ำเข้าไปเก็บกักไว้ในแก้มลิงก่อนหน้านี้ เมื่อมีฝนตกหนักปริมาณน้ำท่ามากขึ้น จะส่งผลให้ไม่มีพื้นรองรับน้ำได้อย่างเพียงพอ และจะทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างได้

ทั้งนี้ ขอย้ำว่า กรมชลประทาน จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด ตามศักยภาพของพื้นที่รับน้ำและระบบระบายน้ำที่มีอยู่ โดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ให้น้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา กรมชลประทานได้มีการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำไปยังจังหวัดต่างๆริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ทราบข้อมูลและแนวทางในการจัดการน้ำของกรมชลประทานอย่างต่อเนื่องไม่เคยขาด เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมการรับมือได้อย่างทันท่วงที




บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 ก.ย. 2559 เวลา : 18:20:52

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:23 am