นายสมชาย หาญหิรัญ ประธานกรรมการ ธพว. เปิดเผยว่า ด้วยผลประกอบการที่ดีมาตลอด 2 ปี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ และพนักงาน ทำให้ธนาคารสามารถแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการงานแต่ละด้านบรรลุเป้าหมายตามแผนฟื้นฟู ประกอบกับล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 กระทรวงการคลังได้อนุมัติเพิ่มทุนให้ธพว.อีก 1,000 ลบ. ทำให้ขณะนี้ฐานะของธพว.แข็งแกร่งมั่นคงอย่างชัดเจน โดยผลประกอบการล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2559 มียอด NPL ลดลงเหลือ 19,486 ลบ. คิดเป็น 21.66% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมดคาดว่ายอด NPL สิ้นปีนี้จะเหลือประมาณ 18,000 ลบ. ตามแผนที่กำหนด ส่วนการปล่อยสินเชื่อใหม่สู่ระบบเศรษฐกิจได้เบิกจ่ายไปแล้ว 21,953 ลบ. โดยยังมีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อค้างระหว่างพิจารณาอีกกว่า 10,000 ลบ. ซึ่งเป็นผลจากการที่ ธพว. ออกผลิตภัณฑ์ที่ตรงใจผู้ประกอบการ 2 โครงการ คือ สินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว วงเงินรวม 30,000 ลบ. และสินเชื่อ Soft Loan 3 เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ วงเงินรวม 3,000 ลบ. ซึ่งเริ่มเดินสายเปิดตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดกว่า 20 แห่ง ได้รับความร่วมมือดีมากจากทั้งหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย คลังจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด จนมีคำขอกู้จากเอสเอ็มอีรายเล็กเข้ามาอย่างล้นหลาม คาดว่าจะสามารถอนุมัติและเบิกจ่ายได้ใกล้เคียงเป้าหมายที่ 35,000 ลบ.
“สำหรับไตรมาส 4 ที่เหลือนี้ ธพว. ให้บริการทางการเงินเพื่อผลักดันการสร้างผู้ประกอบการในกลุ่ม S-Curve ตามนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม การจูงใจให้ผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาจดทะเบียนเปลี่ยนกิจการเป็นนิติบุคคล เพื่อรองรับระบบ E-Payment บัญชีเดียว ตามนโยบายของกระทรวงการคลัง โดยจะมีทั้งการช่วยเหลือสนับสนุนสินเชื่อและร่วมลงทุนหนุนเสริมจัดทำเป็นโปรแกรมพิเศษ ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นชัดว่าผู้ประกอบการได้เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองแล้ว โดยจากสถิติผู้มายื่นขอสินเชื่อที่ ธพว. กว่า 80% เป็นนิติบุคคล
ส่วนความร่วมมือในโครงการศูนย์ SMEs Rescue Center นั้นได้ให้ทุกสาขาของ ธพว. เป็นหน่วยงานหลักในการคัดกรองและช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีปัญหาเดือดร้อนด้านการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการจนสามารถผลักดันลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้ตามกฎหมายฟื้นฟูใหม่ เข้าสู่กองทุนพลิกฟื้น SMEs วงเงิน 1,000 ลบ. จนสำเร็จกลุ่มแรกจำนวน 4 ราย วงเงินที่ได้รับรวมกัน 2.2 ลบ. และจะทะยอยนำเสนออีกหลายร้อยรายในเร็ว ๆ นี้
ขณะนี้ ธพว. มีสถานะที่มั่นคงเข้มแข็งแล้วและพร้อมที่จะสนับสนุนทุกนโยบายของรัฐบาล จะไม่เป็นภาระการช่วยเหลือด้านงบประมาณ โดยยังคงเดินหน้าตามกรอบพันธกิจคือการช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายเล็ก วงเงินไม่เกินรายละ 15 ลบ. ภายใต้ระบบการควบคุมภายในและการบริหารจัดการความเสี่ยงตามมาตรฐาน” นายสมชายกล่าวในที่สุด
ทางด้าน นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธพว. มีความพร้อมที่จะช่วยตัวเองโดยไม่ต้องเสนอโครงการขอชดเชยดอกเบี้ยให้เป็นภาระของรัฐบาล ซึ่งเราได้ออกสินเชื่อ SMEs บัญชีเดียว วงเงินรวม 30,000 ลบ. อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียงร้อยละ 5 และโครงการเบิกจ่ายแฟคตอริ่งทั่วไทยในวันเดียว วงเงินรวม 4,000 ลบ. อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียงร้อยละ 3.99% ซึ่งต่ำกว่าอัตรา MLR ที่ร้อยละ 6.875 โดยส่วนต่างนั้น ธพว. ยอมเฉือนเนื้อลดให้ลูกค้าเองไม่ได้ขอชดเชยจากรัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่เราควบคุมค่าใช้จ่ายในองค์กรได้ต่ำกว่าแผน และยังลดต้นทุนเงิน ณ สิ้นปี 2558 ที่ร้อยละ 2.77 คงเหลือในปัจจุบันเพียงร้อยละ 2.10 ธพว. เป็นสถาบันการเงินรัฐไม่ได้มุ่งหวังกำไรสูงสุดเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อมีผลประกอบการดีขึ้นแล้วก็จะคืนกลับให้ผู้ประกอบการทันที
“ผมเลยใช้คำว่า “หย่านมแม่” เพื่อสื่อความหมายว่าเราต้องเติบโตด้วยตัวเองอย่างมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ต้องยืนหยัดทำหน้าที่ตามพันธกิจองค์กรไปสู่เป้าหมาย ถึงเวลาแล้วที่ธนาคารนี้ต้องเดินและวิ่งสู่เส้นชัยด้วยตัวเอง มีความสามารถที่จะอยู่รอดในระยะยาว ไม่ให้เกิดความผิดพลาดการบริหารเช่นในอดีต โดยใช้วิธีการบริหารความเสี่ยง การกำกับและควบคุมภายในที่ดี เพื่อให้ฐานการเงินมั่นคงยั่งยืน”
ส่วนไตรมาส 4 นี้ ฝ่ายจัดการได้ปรับกระบวนทัพเพิ่มเติมเน้น 5 ด้าน เสริมแกร่งและมุ่งสู่ธนาคารเพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการเต็มรูปแบบ ได้แก่ 1)ด้านพัฒนาระบบการให้บริการ เพื่อการอำนวยสินเชื่อและบริการลูกค้า 2)ด้านพัฒนาบุคลากรให้เป็นนักพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs 3)ด้านฐานะทางการเงินที่มั่นคงยั่งยืน 4)ด้านพัฒนาผู้ประกอบการและส่งเสริมการตลาดเพื่อช่วยเหลือ SMEs และ 5)ด้านพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งด้วยจริยธรรมธรรมาภิบาล ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ต้นแบบที่ดี มีความโปร่งใสน่าเชื่อถือ เพื่อรองรับภารกิจที่จะตอบสนองนโยบายของรัฐบาลไปสู่มือผู้ประกอบการอย่างเต็มกำลัง”
นายมงคล กล่าวต่อว่า เงินเพิ่มทุนใหม่ 1,000 ล้านบาท จะสามารถทำให้ธพว. ปล่อยสินเชื่อได้อีกมาก และอยู่ได้อย่างเพียงพอ ไปอีกหลายปี และทำให้ฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่งขึ้น โดยBIS เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 14% จากก่อนเพิ่มทุน BIS อยู่ที่ 13% และคาดสิ้นปีนี้จะสามารถลดหนี้ NPL ลงเหลือประมาณ 18,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา NPL ของธพว.ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดือนสิงหาคม 2559 อยู่ที่ 19,486 ล้านบาท คิดเป็น 21.66% ของยอดสินเชื่อคงค้างทั้งหมด ซึ่งลดลงจากเมื่อต้นปี 2559 ที่มี NPL อยู่ที่ 27%
"เดิมลูกค้านิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการมาขอสินเชื่อธพว.น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าบุคคล แต่6เดือนที่ผ่านมามีลูกค้าเอสเอ็มอีถึง 80% ที่เป็นนิติบุคคลที่มาขอสินเชื่อซึ่งเป็นสิ่งที่ธนาคารต้องการและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเน้นทำบัญชีเดียวและมาขอสินเชื่อ"นายมงคลกล่าว
นายมงคล กล่าวว่า เร็วๆนี้ ธพว. จะออกโปรดักส์ทางการเงินตัวใหม่เป็นโครงการโปรแกรมพิเศษที่ให้กับลูกค้าอีกครั้งหนึ่ง โดยวันศุกร์ที่ 30 กันยายนนี้จะนำเสนอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติ คาดเดือนตุลาคมนี้ จะสามารถออกโปรดักส์ตัวใหม่นี้ได้
"การดำเนินงานต่อไปของธพว.คงจะร่วมมือกับธนาคารของรัฐแห่งอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงและช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการ สตาร์ท อัพ ให้ธุรกิจอยู่รอดและปลอดภัย"นายมงคลกล่าว
ข่าวเด่น