พาณิชย์สุดปลื้มโครงการนาแปลงใหญ่มีเกษตรกรเข้าร่วมกว่า 55,000 ราย ใน 66 จังหวัด กว่า 386 แปลง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 830,000 ไร่ เดินหน้าทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือซื้อขายข้าวล่วงหน้าตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิตในราคานำตลาดประมาณ ตันละ 200 บาท เดินหน้าพัฒนาสร้างเกษตรกรไทยสู่การเป็น Smart Farmers พร้อมนำ E-commerce มาช่วยพัฒนาตลาดซื้อขายตรง และตลาดประมูลสินค้าเกษตร
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงมหาดไทยในการจัดทำโครงการนาแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นโครงการ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม และบริหารจัดการร่วมกันเพื่อสร้างความเข้มแข็ง และผลิตข้าวคุณภาพ โดยรัฐบาลจัดหาเครื่องจักร อุปกรณ์การเกษตร รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต สร้างอำนาจต่อรอง โดยประสานผู้ประกอบการรับซื้อผลผลิตในราคานำตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ รวมถึงการผลิตข้าวคุณภาพ ซึ่งมีผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ โดย ณ วันที่ 7 กันยายน 2559 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 66 จังหวัด จำนวน 386 แปลง มีเกษตรกรเข้าร่วม 57,775 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 838,403.75 ไร่ เกินกว่าพื้นที่เป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 800,000 ไร่ โดยจะสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ตันละ 200 บาท จากราคาปกติตามชนิดของข้าวและคุณภาพของข้าวในท้องตลาด
“กระทรวงพาณิชย์ในฐานะที่รับผิดชอบด้านการตลาดได้มีการวางแผนการตลาดเพื่อรองรับผลผลิต ให้เกษตรกรสามารถขายขาวได้ราคาดีและเพื่อให้ความมั่นใจก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด ได้มีการประสานเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาแปลงใหญ่กับโรงสี หรือสหกรณ์ในพื้นที่ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือซื้อขายข้าวกันล่วงหน้าตั้งแต่ต้นฤดูการผลิต โดยให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดทั่วไปในราคานำตลาดประมาณตันละ 200บาทขึ้นไปตามชนิดและคุณภาพข้าว รวมทั้งระบุเงื่อนไขรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร อีกทั้งการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจะจูงใจ ให้เกษตรกรผลิตข้าวคุณภาพดีได้มาตรฐานตามที่กำหนด ซึ่งการบริหารจัดการข้าวโดยใช้การตลาดนำการผลิต ด้วยการส่งเสริมระบบตลาดให้มีประสิทธิภาพเพื่อขยายช่องทางการค้าให้แก่เกษตรกร รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้าเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาด จะส่งผลต่อความสำเร็จของนโยบายรัฐบาล ในการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและคุณภาพชีวิตของเกษตรกร รวมทั้งสร้างความมั่นคงและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน และจะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรอื่นต่อไปในอนาคต” นางอภิรดีกล่าว
นางอภิรดีกล่าวเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรถือเป็นหนึ่งใน นโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการพัฒนาเกษตรกรไทยสู่เกษตรกร 4.0 ด้วยการช่วยให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ประกอบการ (from farmers to entrepreneurs) ที่นอกจากเน้นเรื่องประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ยังต้องมีความสามารถในการตัดสินใจทำการผลิต และทำการค้าผลผลิตของตนอย่างชาญฉลาดด้วย หรือที่เรียกว่าเป็น Smart Farmers รวมถึงการเพิ่มช่องทางการค้าขายสินค้าให้เกษตรกรมากขึ้นผ่านการใช้ E-commerce ซึ่งจะช่วยพัฒนาตลาดซื้อขายตรง และตลาดประมูลสินค้าเกษตร”
ข่าวเด่น