ผลเท่ อินเด็กซ์ (TE Index) ภาคประชาชน ไตรมาส 3 ภาพรวมคะแนนลดลงทุกปัจจัย ต่ำกว่าเกณฑ์ ความรับผิดชอบได้คะแนนต่ำสุด คอร์รัปชั่นรั้งท้าย แนะช่วยกันตรวจสอบ เลิกคบค้าพวกไม่ซื่อ
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ และประธานอำนวยการบริหารจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (เท่ อินเด็กซ์) แถลงผลดัชนีประสิทธิผลประเทศไทยดัชนีประสิทธิผลการทำงานของภาคประชาชน ประจำไตรมาส 3 ปี 2559 ชี้ภาพรวมคะแนนลดลงทุนปัจจัย โดยความรับผิดชอบได้คะแนนต่ำสุด ส่วนคอร์รัปชั่นรั้งท้าย แนะให้ช่วยกันตรวจสอบ และเลิกคบค้าพวกไม่ซื่อ และการบรรยายพิเศษจาก รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ เรื่อง “Thailand 4.0 and the global mega trends” ในงานแถลงผลของสภาปัญญาสมาพันธ์ครั้งที่ 10 มีผู้สนใจและกลุ่มนักศึกษาจากองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงเข้าร่วมรับฟัง
ดัชนีประสิทธิผลการทำงานของภาคประชาชน (People Sector Effectiveness Index - PPE Index) ประจำไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่า ในภาพรวม ได้คะแนนร้อยละ 69.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ร้อยละ 1.65 (ไตรมาส 2 ร้อยละ 70.8) โดยรวมแล้วมีคะแนนลดลงในทุกปัจจัย และต่ำกว่าความคาดหวังของประชาชน
ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ คณะทำงานฯ ได้สอบถามประชาชนถึงระดับคะแนนขั้นต่ำที่ประชาชนพอใจที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินประสิทธิผลการทำงาน ซึ่งได้ค่าคะแนนที่ร้อยละ 71.9 ดังนั้น เมื่อเทียบประสิทธิผลการทำงานของภาคประชาชนกับเกณฑ์แล้ว ถือว่าภาคประชาชนยังไม่ผ่านเกณฑ์ในไตรมาสนี้
ปัจจัยที่ได้คะแนนสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ได้แก่ การสร้างพันธมิตรและการบูรณาการ ได้คะแนนร้อยละ 71 ลดลงเล็กน้อย โดยไตรมาส 2 ได้คะแนนร้อยละ 72 แต่ยังถือว่าสูง สาเหตุอาจเนื่องมาจากการทำงานแบบเชื่อมโยงกับภาคส่วนอื่นๆ เป็นลักษณะเฉพาะที่เห็นได้ชัดเจนของภาคประชาชน และในช่วงที่ผ่านมา มีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนรับรู้ถึงการทำงานของภาคประชาชนที่สร้างพันธมิตรกับหน่วยงานอื่นๆ
ปัจจัยอันดับสอง ได้แก่ การตอบสนองความต้องการของสังคม ได้คะแนนร้อยละ 70.8 ลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 1.9 (ไตรมาส 2 ร้อยละ 72.6) ประชาชนให้คะแนนปัจจัยนี้เป็นอันดับ 2 เหตุผลอาจเนื่องจากภาคประชาชนทำหน้าที่เพื่อฟื้นฟู พัฒนา และแก้ไขปัญหาที่ตอบสนองความคาดหวังของสังคมได้อย่างรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ ตรงประเด็น โดยเฉพาะองค์การที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปของประชาชน เช่น มูลนิธิกระจกเงา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในเรื่องของการติดตามบุคคลสูญหาย เป็นต้น
ส่วนคะแนนอันดับสาม ได้แก่ ปัจจัยความสามารถในการเข้าถึงประชาชน ได้คะแนนร้อยละ 70.1 ลดลงจากไตรมาสก่อนเพียงเล็กน้อย (0.89%) สาเหตุน่าจะเป็นเพราะการที่องค์การภาคประชาชนยังคงมีข่าวปรากฏในสื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนรับรู้ถึงผลการปฏิบัติงานที่แก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วและสำเร็จ
ส่วนปัจจัยที่ได้คะแนนต่ำสุด ได้แก่ ความรับผิดรับชอบ ได้คะแนนร้อยละ 65.4 ลดลงจากไตรมาส 2 ร้อยละ 2.8 (ไตรมาส 2 ร้อยละ 68.2) ปัจจัยนี้ นอกจากได้คะแนนต่ำที่สุดแล้ว ยังมีคะแนนลดลงจากไตรมาสก่อนมากที่สุดอีกด้วย เหตุผลอาจสืบเนื่องจากในไตรมาสที่ 3 นั้น มีข่าวด้านลบเกี่ยวกับองค์กรภาคประชาชนปรากฏในสื่ออย่างต่อเนื่อง เช่น กรณีผู้ควบคุมการผลิตคอนเสิร์ตการกุศล "สร้างรอยยิ้มเพื่อผู้ยากไร้และด้อยโอกาส" ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชน ทำการเบิกเงินจริงสำหรับการจัดคอนเสิร์ตการกุศลดังกล่าว และไม่ออกมาแสดงความรับผิดชอบเมื่อเรื่องราวถูกเปิดเผย เป็นต้น
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ได้คะแนนต่ำรั้งท้ายรองลงมา ได้แก่ การปลอดคอร์รัปชั่น ได้คะแนนร้อยละ 67.9 ลดลงร้อยละ 2.8 จากไตรมาสก่อน (ไตรมาส 2 ร้อยละ 70) คะแนนที่ลดลง สะท้อนว่า ประชาชนเริ่มเห็นว่าการคอร์รัปชั่นไม่ได้เป็นเพียงปัญหาในภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น แต่ยังได้กลายเป็นปัญหาในภาคประชาชนด้วย ทั้งนี้ อาจเนื่องจากมีข่าวที่มีองค์การภาคประชาชนบางส่วนได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีความเรื่องการคอร์รัปชั่น เช่น คดีฉ้อโกงทรัพย์สินของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กรณีสมาคมกีฬายูโด ค้างเบี้ยฝึกซ้อมแก่นักกีฬาและคู่ซ้อม หรือกรณีสหกรณ์แห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรีทำสัญญาขายฝากที่ดินโดยมิชอบ เป็นต้น
จากกรณีข่าวการทุจริตในภาคประชาชนปรากฏในสื่อบ่อยขึ้นนั้น เสนอว่า ประชาชนควรสนใจดูแล ตรวจสอบ และควรใช้มาตรการกดดันทางสังคม ไม่ให้ความร่วมมือกับองค์กรภาคประชาชนที่ไม่แสดงความรับผิดเมื่อเกิดความเสียหายแก่สังคม รวมทั้ง ควรมีการประชาสัมพันธ์ประชาชนให้รับรู้ว่า หากเกิดเหตุเสียหาย สามารถร้องเรียนกรณีความผิดได้ในช่องทางใดบ้าง เช่น ส่วนรักษาความสงบเรียบร้อย 2 สำนักงานสอบสวนและนิติกร กรมการปกครอง เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ประชาชนยังไม่รับรู้มากนัก เป็นต้น
ข่าวเด่น