กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนถือศีล กินเจ อิ่มใจ อิ่มบุญ เลือกร้านที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ลดหวาน มัน เค็ม เพื่อลดโรค ช่วยให้มีสุขภาพกายดี
วันนี้ (29 กันยายน 25559) นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน เปิดเทศกาลถือศิลกินเจ ตลาดยิ่งเจริญ สะพานใหม่ ณ ลานโปรโมชั่น 60ปี ตลาดยิ่งเจริญ ว่าช่วงเทศกาลกินเจ ควรระมัดระวังในการบริโภคอาหารเจ เนื่องจากอาหารเจส่วนมากจะมีรสหวาน มัน เค็ม และมีแป้งเป็นส่วนประกอบ วิธีการปรุงมักจะเป็นการทอด ผัด ซึ่งใช้น้ำมันมาก ส่วนร้านที่จำหน่ายอาหารเจ มักจะปรุงไว้นานและปรุงครั้งละมากๆ ดังนั้นการเลือกซื้อควรคำนึงถึงความสะอาด โดยอาหารที่ปรุงสำเร็จต้องใส่ในภาชนะที่สะอาดปลอดภัย มีการปกปิด วางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร และควรนำมาอุ่นทุกๆ 4 ชั่วโมง หากซื้อกลับบ้านและไม่กินทันทีควรเก็บในตู้เย็นที่อุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส สิ่งที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ การทำอาหารไว้ล่วงหน้าไม่ควรนานเกิน 4ชั่วโมง เพราะจะทำให้อาหารบูดเสียได้ ต้องมีการป้องกันแมลงวัน ใช้ภาชนะที่สะอาด ปลอดภัย
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า การเลือกซื้ออาหารเจสำเร็จรูป ควรเลือกร้านที่ผู้ปรุงจำหน่าย มีการสวม ผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม ใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหาร หรือใส่ถุงมือ ไม่ใช้ภาชนะโฟมใส่อาหารเจ ควรเลือกซื้ออาหารเจจากร้านอาหารหรือแผงลอยมีป้ายสัญลักษณ์ อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) สำหรับผัก ผลไม้ ในกรณีที่ปรุงอาหารกินเองที่บ้าน ต้องนำมาล้างด้วยน้ำไหล 2 นาที หรือแช่ด้วยน้ำเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชูครึ่งถ้วยตรงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนตหนึ่งช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร โดยแช่นาน 15-30 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 2ครั้ง สำหรับผักกาด กะหล่ำปลี ควรคลี่ใบและล้างให้สะอาด ปรุงให้สุกด้วยความร้อน โดยอาหารเจทุกเมนูต้องลดหวาน มัน เค็ม คำนึงถึงการเติมสารปรุงแต่งอาหาร เพราะความเค็มจะมีโซเดียมสูงที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงและทำให้ไตทำงานหนัก ส่วนความหวานจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้
"ทั้งนี้ การเลือกซื้ออาหารเจที่ได้คุณค่าทางโภชนาการ ผู้บริโภคควรเลือกอาหารที่มีถั่วหรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น น้ำเต้าหู้ ฟองเต้าหู้ โปรตีนเกษตร เพื่อเสริมโปรตีน ให้เลี่ยงอาหารประเภทผัด ทอด เพราะมีไขมันสูง หากได้รับมากเกินความจำเป็นของร่างกายจะทำให้น้ำหนักเกินและอ้วนได้ โดยเฉพาะน้ำมันในการปรุงอาหาร ไม่ควรเกิน 6ช้อนชาต่อวัน เน้นอาหารเจประเภทต้มที่มีผักเป็นส่วนประกอบ เช่น ต้มจืดเจ ต้มยำเจ พะโล้เจ จับฉ่าย เป็นต้น ส่วนอาหารเจที่เหลือจากการกิน ต้องใส่ตู้เย็น และนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
ข่าวเด่น